กระทรวงสาธารณสุข ทุ่ม 500 ล้านบาท พัฒนาโรงพยาบาลรัฐเอกชนทั่วประเทศ เป็นโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว ยกมาตรฐานงานบริการแม่และเด็กเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 เด็กไทยคลอดใหม่ปีละ 800,000 รายปลอดภัยจาก 3 โรคร้าย ได้แก่ ธาลัสซีเมีย ปัญญาอ่อน และเอชไอวี ได้รับวัคซีนครบถ้วน มีพัฒนาการสมวัยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90
วันนี้ (4 กันยายน 2550) นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว ของโรงพยาบาลบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งพัฒนามาตรฐานงานบริการอนามัยแม่และเด็ก ให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีปีละ 800,000 ราย คลอดบุตรปลอดภัย ลูกมีสุขภาพดี ปลอดภัยจากโรคสำคัญ เน้น 3 โรค ได้แก่ โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย ขณะนี้พบคนไทยร้อยละ 35 เป็นพาหะโรค โดยไม่แสดงอาการ พบมากที่สุดที่จังหวัดสุรินทร์ ประมาณร้อยละ 50 โรคปัญญาอ่อนที่เกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง เพราะขาดสารไอโอดีน พบร้อยละ 5 ในเด็กแรกเกิดหรือประมาณ 40,000 ราย และปัญหาความบกพร่องของสารโปรตีนหรือพีเคยู (PKU:Phenyl ketonurea) พบปีละประมาณ 40 ราย โดยโรคปัญญาอ่อนจาก 2 สาเหตุนี้ไม่สามารถมองเห็นความผิดปกติภายนอกได้ จะต้องใช้วิธีตรวจเลือดเท่านั้น
สำหรับโรคสุดท้ายคือ การติดเชื้อเอชไอวี พบในหญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 0.79 ต่อปี หรือประมาณ 6,400 ราย ในจำนวนนี้ลูกมีโอกาสติดเชื้อจากแม่ได้ร้อยละ 5 หรือ 320 ราย ทั้ง 3 โรคนี้หากไม่เร่งแก้ไขจะทำให้เด็กไทยรุ่นใหม่มีคุณภาพด้อยลง ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตลอดชีวิต เป็นภาระครอบครัวมาก หากได้รับการป้องกันแก้ไขตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์หรือเมื่อคลอดใหม่ๆ จะสามารถลดความรุนแรงได้ เช่น โรคปัญญาอ่อนจากสารไอโอดีน และพีเคยู สามารถรักษาหายขาด 100 เปอร์เซ็นต์
นายแพทย์มรกตกล่าวต่อว่า ในการพัฒนาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว ตามแนวพระดำริพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงให้ความสำคัญงานอนามัยแม่และเด็ก โดยปรับมาตรฐานการฝากครรภ์ การดูแลหญิงระหว่างคลอดและหลังคลอดให้เป็นระบบเดียวกัน ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งมี 1,200 แห่งเชื่อมโยงลงไปถึงชุมชน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 และจะดำเนินการให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2552 ใช้งบดำเนินการ 500 ล้านบาท ขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการแล้ว 863 แห่ง
ทั้งนี้ ตามมาตรฐานบริการใหม่นี้ หญิงตั้งครรภ์ทุกรายพร้อมสามี จะได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาโรคธาลัสซีเมียให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 80 และให้หญิงมีครรภ์ร้อยละ 50 ได้รับเกลือเสริมไอโอดีนป้องกันไม่ให้ขาดสารไอโอดีนซึ่งเป็นตัวสร้างไอคิวของเด็ก ส่วนทารกแรกเกิดทุกรายจะได้รับการตรวจหาระดับฮอร์โมนไทรอยด์และสารโปรตีนพีเคยู เพื่อให้การรักษาแต่เนิ่นๆ และให้กินนมแม่อย่างเดียวไปจนถึงอายุ 6 เดือน เพิ่มจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 25 สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับยาต้านไวรัสไปจนถึงหลังคลอด ส่วนบุตรจะได้กินนมผสมแทนนมแม่ไปจนถึงอายุ 2 ปี โดยเด็กทุกรายจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคและกระตุ้นพัฒนาการจนถึงอายุ 5 ขวบเพื่อให้มีพัฒนาการสมวัยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ทั้งหมดเป็นการให้บริการฟรี นายแพทย์มรกตกล่าว
******************************* 4 ตุลาคม 2550
View 10
04/10/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ