องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชุมผู้แทนสมาชิก 11 ประเทศ เตรียมปรับแผนพัฒนาระบบสาธารณสุขมูลฐาน โดยเฉพาะบุคลากรสาธารณสุขชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อพัฒนาศักยภาพให้สามารถรับมือกับปัญหาสุขภาพในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ โรคระบาดใหม่ และโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หวังผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ในปีครบรอบ 30 ปีการประกาศสุขภาพดีถ้วนหน้าและการสาธารณสุขมูลฐาน เช้าวันนี้ (3 ตุลาคม 2550) ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้แทนด้านสาธารณสุขประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 11 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย อินเดีย มัลดีฟว์ บังคลาเทศ สหภาพเมียนม่า เนปาล เกาหลีเหนือ ภูฎาน ติมอร์เลสเต ศรีลังกา และไทย เรื่อง “การพัฒนาบริการสาธารณสุขมูลฐานและบุคลากรสาธารณสุขชุมชนรวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข” (Revisiting Community-based Health Workers and Community Health Volunteers) จัดโดยองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคม 2550 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศ รวมถึงระดมความคิดในการพัฒนากลยุทธ์เพื่อรับมือกับปัญหาสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ โรคเรื้อรังต่างๆ โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง และโรคติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเอดส์ รวมทั้งปัญหาสุขภาพจากภาวะโลกร้อน โดยมีนายแพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายแพทย์ฮาฟเดน มาเลอร์ (Dr. H. Mahler) อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นผู้ประกาศนโยบายสุขภาพดีถ้วนหน้าและการสาธารณสุขมูลฐาน เข้าร่วมประชุมด้วย นายแพทย์มงคล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญต่อประเทศไทยมาก เนื่องจากเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบงานสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งทั่วโลกเริ่มมาตั้งแต่ 2521 และจะครบ 30 ปีในปีหน้านี้ เพื่อเป็นยุทธศาสตร์หลักในการแก้ปัญหาสุขภาพประชากรทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาใหม่ที่แตกต่างจากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่สำคัญมี 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกในศตวรรษที่ 21 จำนวน 2,000 ล้านคนจากประชากรโลก 8,000 ล้านคน ประการที่ 2 คือโรคติดต่อที่กลับมาระบาดใหม่ทั่วโลก ได้แก่ โรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย รวมทั้งโรคระบาดใหม่ โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ที่อาจระบาดวิกฤติรุนแรงไปทั่วโลกในเวลาอันใกล้นี้ และประการที่ 3 คือโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง ประเทศชาติต้องสูญเสียกำลังคนและเศรษฐกิจ เนื่องจากต้องรักษาตลอดชีวิต ซึ่งในภูมิภาคนี้มีประชาชนเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้มากถึง 36 ล้านคน ทุกประเทศจึงต้องเร่งพัฒนาวิธีคิดและนวัตกรรมในงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพและทักษะใหม่ๆ ให้แก่บุคลากรสาธารณสุขชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุข ให้ทันกับปัญหาและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีการพัฒนางานสาธารณสุขชุมชน บุคลากรสาธารณสุขชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขมาโดยตลอด บุคลากรสาธารณสุขในระดับตำบลคือ สถานีอนามัย และระดับอำเภอคือ โรงพยาบาลชุมชน ได้รับการพัฒนาและจัดให้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถให้บริการสุขภาพที่จำเป็นได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากผู้ป่วยนอก มีการใช้บริการในระดับตำบลถึงกว่าร้อยละ 50 ในระดับอำเภอกว่าร้อยละ 30 และมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ต้องไปรับบริการระดับจังหวัด ในส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม. มีจำนวนกว่า 800,000 คน และจะเพิ่มเป็น 1 ล้านคนใน 1- 2 ปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการพัฒนาอบรมเพิ่มความรู้และทักษะให้กับ อสม. เกี่ยวกับเรื่องโรคเรื้อรัง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการเฝ้าระวังโรคติดต่อใหม่ๆ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก เพื่อร่วมกันรณรงค์แก้ปัญหาด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง มีการรณรงค์วัดความดันโลหิตทั่วประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ พบคนไทยอายุ 30 ปีขึ้นไปมีความดันโลหิตสูง 2 ล้านคน จากที่ตรวจวัดความดันโลหิต 23 ล้านคนทั่วประเทศ ต่อไปจะรณรงค์ตรวจมะเร็งเต้านมในเดือนพฤศจิกายน 2550 นี้ ขณะเดียวกันก็กำลังปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพ โดยเน้นให้พยาบาลดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุกในชุมชนมากขึ้น เพื่อลดภาระการเดินทางมารับบริการที่โรงพยาบาลและลดความแออัด รวมทั้งให้ชุมชนสามารถดูแลกันเองได้มากขึ้น “การประชุมตลอด 3 วันนี้ จะมีการจัดทำแผนพัฒนาระบบสาธารณสุขมูลฐานและพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขชุมชน รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกัน โดยหานวัตกรรมแก้ปัญหาในสภาพที่ตรงกับความเป็นจริง และจัดแผนพัฒนาบุคลากรทางสุขภาพให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ปูชนียบุคคลในการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน เช่น นพ.ฮาฟเดน มาเรอร์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และ นพ.อมร นนทสุต ของไทย จะได้พบกันด้วย” นายแพทย์มงคล กล่าว ด้านนายแพทย์สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มุ่งจัดที่ประเทศไทย เพราะเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญในการพัฒนางานสาธารณสุขมูลฐานและบุคลากรสาธารณสุขชุมชน รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญงานเหล่านี้ล้วนมีจุดกำเนิดสำคัญที่จังหวัดเชียงใหม่ การประชุมจะทำให้ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และการพัฒนายุทธศาสตร์ที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ จะมีการนำไปพัฒนาต่อและนำเสนอในการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในเดือนมกราคมปีหน้า โดยจะเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีแห่งการประกาศเรื่องนโยบายสุขภาพดีถ้วนหน้าและการสาธารณสุขมูลฐานด้วย ******************************* 3 ตุลาคม 2550


   
   


View 17    03/10/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ