กระทรวงสาธารณสุขจับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทางสุขภาพ       คน-สัตว์ เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงได้แม่นยำ รวดเร็ว ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งให้มีระบบส่งต่อตัวอย่างที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

        ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกระดับภูมิภาค ครั้งที่ 2  “ 2nd GHSA Detect            1 Workshop” หัวข้อ “Enhancing Joint Collaborative Efforts for Lab Preparedness”ว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นนิมิตหมายที่สำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับโลก ที่จะสร้างความเข้มแข็งห้องปฏิบัติการ (Lap) ให้สามารถตรวจชันสูตรและยืนยันโรคติดเชื้อชนิดต่างๆ เกิดผลชัดเจนในการควบคุมป้องกันและดูแลสุขภาพของประชาชนในระดับนานาชาติ โดยความร่วมมือ 2 กระทรวงหลัก 
คือ กระทรวงสาธารณสุข   โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ที่จะร่วมมือดำเนินการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทางสุขภาพของคนและของสัตว์ เรียกว่า One World One Health  ดำเนินการควบคู่กันไปเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน ถ้าสุขภาพสัตว์ไม่ดี คนก็จะสุขภาพไม่ดีไปด้วย  เช่น โรคไข้หวัดนก หรือโรคที่เกิดจากสัตว์ที่นำมาเป็นอาหาร ต้องได้รับการดูแลที่ดี นอกจากนี้ยังรวมไปถึงพืชด้วย ซึ่งทุกอย่างต้องดูแลร่วมกัน   เพื่อรับมือกับเชื้อโรคอุบัติใหม่ และอุบัติซ้ำ 
      ทั้งนี้ ประเทศไทยได้สนับสนุนวาระความมั่นลงด้านสุขภาพของโลกและความพร้อมในการเป็นผู้นำในการพัฒนาศักยภาพในชุดกิจกรรมด้านการพัฒนาและสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการระดับประเทศ เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยเชื้อโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงได้แม่นยำ รวดเร็ว ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งให้มีระบบส่งต่อตัวอย่างที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่รณรงค์ ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคใกล้เคียงให้พัฒนาศักยภาพระบบห้องปฏิบัติการที่สามารถรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดจากโรคติดต่อร้ายแรงสูงต่างๆ ที่เป็นโรคติดต่อข้ามพรมแดนและที่เกี่ยวข้องกับเชื้อดื้อยา  ที่มุ่งเน้น เรื่องของระบบห้องปฏิบัติการของประเทศ เพื่อให้ระบบห้องปฏิบัติการของแต่ละประเทศมีการเฝ้าระวัง เวลาที่เกิดเหตุจริง
 (Real time Bio-Surveillance) รวมทั้ง มีการตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ที่จุดดูแลผู้ป่วยและห้องปฏิบัติการที่ชัดเจน 
      ด้านนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากประเทศต่างๆรวมถึงหน่วยงานเข้าร่วมประชุม อาทิ  WHO, FAO, OIE, USAID, Thailand MOPH TUC, JICA, FHI, AFRIM, Defense Threat Reduction Agency (DTRA), and Global Partnership Program (GPP Canada) ผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศกว่า 100 คน และผู้เชี่ยวชาญจากห้องปฏิบัติการทางสุขภาพคนและห้องปฏิบัติการทางสุขภาพสัตว์ จากกว่า 30  ประเทศในอาเซียน (ASEAN) ภูมิภาคเอเซียใต้ (SAARC) และติมอร์เลสเต  เพื่อนำแนวทางพัฒนา โดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทยเป็นต้นแบบของโลกเรื่องการดูแล เชื้อดื้อยา เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่นำเสนอ ในจี 77 คาดว่าความเข้มแข็ง ของประเทศไทยจะเป็นต้นแบบและเป็นแบบอย่างให้ประเทศต่างๆนำไปใช้ต่อไป
 ************************* 8 กุมภาพันธ์ 2560
 
 


   
   


View 18    08/02/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ