กระทรวงสาธารณสุข จับมือภาคีเครือข่าย พัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขจัดทำแผนพัฒนาด้านการส่งเสริมสุขภาพในวัยรุ่น มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจควบคู่ไปกับการให้บริการมีคุณภาพและประสิทธิภาพ บุคลากรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เน้นป้องกันการท้องในวัยรุ่น

 

วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2560) ที่โรงแรมมารวย การ์เด้น กทม. นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง  “การพัฒนาการจัดทำแผนในกลุ่มวัยรุ่น ปีงบประมาณ 2560” โดยมีเครือข่ายสมาคมแม่บ้านสาธารณสุข 76 จังหวัด และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ประมาณ 300 คน ร่วมจัดทำแผนพัฒนาด้านการส่งเสริมสุขภาพในวัยรุ่นให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจควบคู่ไปกับการให้บริการ

 

นายแพทย์โสภณกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายบูรณาการกลุ่มวัย ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2558 – 2567  ซึ่งแนวทางในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เน้นเสริมสร้างการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยราชการและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการให้ความรู้ คำแนะนำและช่วยเหลือวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ ให้ครอบครัวดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข เน้นส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาและเข้าถึงกลุ่มวัยในแต่ละกลุ่ม โดยมีเป้าหมายให้วัยรุ่นมีความรู้ด้านเพศศึกษาและมีทักษะชีวิต สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ ครอบครัวมีทัศนคติเชิงบวกในการสื่อสารเรื่องเพศ

 

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบันส่งผลให้การดำรงชีพของครอบครัวไทยจำนวนมากต้องดิ้นรน เร่งรีบและการแข่งขันที่สูง พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องหาเลี้ยงชีพ ส่งผลให้ครอบครัวบางส่วนไม่สามารถดูแลวัยรุ่นให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่อายุยังน้อย ขาดความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ วุฒิภาวะฯลฯ มีพฤติกรรมทางเพศเร็วขึ้นโดยขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ดังที่กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) สรุปว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นปัจจัยคุกคามคุณภาพประชากรในระยะยาว โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2556 ระบุว่า วัยรุ่นอายุ 15 – 19 ปี ร้อยละ 32 ต้องออกจากการศึกษา ซึ่งการตั้งครรภ์ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นต้องหยุดเรียน หันไปประกอบอาชีพที่มีรายได้ต่ำ ส่งผลกระทบด้านต่างๆ ทางสังคมโดยรวม รวมไปถึงปัญหาเรื่องการทำแท้งที่พบว่า สัดส่วนการทำแท้งในกลุ่มอายุ 15 – 19 ปี มีร้อยละ 28.1 และการทำแท้งซ้ำในกลุ่มนี้มีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 6.9

 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาในกลุ่มวัยรุ่น จำเป็นต้องมีการวางแผนร่วมกัน ดังนั้น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาการจัดทำแผนกกลุ่มวัยรุ่นเรื่อง  “การพัฒนาการจัดทำแผนในกลุ่มวัยรุ่น ปีงบประมาณ 2560” ระหว่างวันที่ 6 – 8 กุมภาพันธ์ 2560 จะช่วยให้การบริหารจัดการแผนงานกลุ่มวัยรุ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

 *****************   7 กุมภาพันธ์ 2560



   
   


View 19    07/02/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ