กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนประสบอุทกภัยภาคใต้ ที่เดินลุยน้ำท่วมขัง ย่ำโคลนแล้วมีไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย เสี่ยงป่วยด้วยโรคฉี่หนู ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมบอกประวัติเดินลุยน้ำ ลุยโคลน  หากมีข้อสงสัย ปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 วันนี้ (28 มกราคม 2560) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้บัญชาการเหตุการณ์ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรณีอุทกภัยภาคใต้ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (Emergency Operations Center : EOC) ให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินฯได้รับรายงานพบผู้ป่วยโรคฉี่หนูในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งโรคนี้พบได้ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังแฉะ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคฉี่หนูที่ปะปนอยู่ในน้ำขังและในโคลนมากขึ้น 

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ธันวาคม 2559-27 มกราคม 2560 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูในพื้นที่ภาคใต้แล้ว 126 คน เสียชีวิต 1 ราย อยู่ระหว่างรอผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการอีก 2 ราย ที่จ.ตรังและจ.กระบี่

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(Surveillance and Rapid Response Team :SRRT)ดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคในพื้นที่เสี่ยง และได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทางสื่อสารให้ความรู้ในการป้องกันโรคแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โรคนี้มียารักษา แต่ต้องได้รับการรักษาที่รวดเร็ว  

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย ปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากโรคฉี่หนู หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะแอ่งน้ำขังเล็กๆ หรือในดินโคลนที่ประชาชนสัมผัส ในช่วงทำความสะอาดบ้าน เนื่องจากปริมาณเชื้อฉี่หนูจะมีความเข้มข้นสูง ผู้ที่มีบาดแผลหรือมีรอยถลอกที่บริเวณเท้าขาและมือจะเพิ่มความเสี่ยงสูงมาก เพราะมีช่องทางที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย 

หากมีความจำเป็นต้องเดินลุย ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดิน สวมถุงมือยาง รวมทั้งป้องกันสิ่งของมีคมทิ่มแทง และให้รีบชำระล้างทำความสะอาดหลังเดินย่ำน้ำย่ำโคลนแล้ว 

โรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในไตของหนูทุกชนิด เชื้อจะออกมากับปัสสาวะปนเปื้อนอยู่ในดินโคลนที่ชื้นแฉะ หรืออยู่ในแอ่งน้ำขังเล็กๆเชื้อมีชีวิตได้นานหลายวัน ติดต่อสู่คนโดยไชเข้าทางบาดแผลหรือรอยถลอก รวมทั้งผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน  หากประชาชนเดินลุยน้ำท่วมขังแล้วมีไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย อาจร่วมกับอาการปวดศีรษะ ตาแดง ปัสสาวะสีเข้ม มีโอกาสป่วยจากโรคฉี่หนู ขอให้รีบพบแพทย์ทันทีพร้อมบอกประวัติ การเดินลุยน้ำ ลุยโคลน  และหากมีข้อสงสัย เรื่องโรคภัยสุขภาพ ปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 
******************************** 28 มกราคม 2560
 


   
   


View 29    28/01/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ