กระทรวงสาธารณสุข ทุ่มงบกว่า 130 ล้านบาท พัฒนามาตรฐานบริการประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ โดยสร้างโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ขนาด 30 เตียงพร้อมเครื่องมือแพทย์ครบครันเพิ่ม 1 แห่ง และซื้อเครื่องมือแพทย์เช่น เครื่องตรวจครรภ์ เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องตรวจหัวใจ กล้องส่องตรวจอวัยวะภายใน เพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้เจ็บป่วย ไม่ต้องเดินทางไปรักษาไกลบ้าน วันนี้ ( 30 กันยายน 2550 ) นายแพทย์สุวัจน์ เฑียรทอง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นสักขีพยานการลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ระหว่างนายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กับห้างหุ้นส่วนจำกัดอารีย์ก่อสร้างยะลา ณ ที่สถานที่ก่อสร้าง 30 ไร่ บนถนนสายยี่งอ-รือเสาะ หมู่ที่ 4 ต.ยี่งอ ซึ่งโรงพยาบาลดังกล่าวเป็น 1 ใน 9 แห่งของโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ใช้เวลาก่อสร้าง 540 วัน กำหนดเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 วงเงินก่อสร้างรวมทั้งเครื่องมือแพทย์ 73 ล้านกว่าบาท นายแพทย์สุวัจน์ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายกระจายบริการทางการแพทย์ให้เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ แม้ว่าอ.ยี่งอ จะอยู่ห่างจากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์เพียง 20 กิโลเมตรก็ตาม เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยได้รับบริการที่ใกล้บ้านที่สุด โดยโรงพยาบาลแห่งนี้จะเป็นโรงพยาบาลชุมชนโฉมใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขที่เน้นความใกล้ชิดระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับประชาชนในชุมชน มีพยาบาลออกไปเยี่ยมบ้านเช่น เยี่ยมผู้สูงอายุ ผู้พิการอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันจะให้ประชาชนเข้ามาร่วมพัฒนาโรงพยาบาลทั้งเรื่องการบริหาร การจัดการต่างๆภายในโรงพยาบาล ทำให้เป็นโรงพยาบาลของชุมชนโดยแท้จริง สำหรับในปีงบประมาณ 2551 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการพัฒนาสถานพยาบาลใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้มีศักยภาพในการดูแลรักษาประชาชนสูงขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปรักษาไกลบ้าน โดยจัดงบประมาณ 56 ล้านบาทเศษ ซื้อเครื่องมือแพทย์ต่างๆที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ เช่น เครื่องตรวจวัดฟังเสียงหัวใจเด็กในครรภ์มารดา จัดซื้อเครื่องอัตราซาวด์ตรวจสุขภาพเด็กในครรภ์ 10 เครื่อง ให้โรงพยาบาลชุมชน 15 แห่ง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังมีอัตราตายสูงของเด็กสูงกว่าพื้นที่อื่นหลายเท่าตัว จัดซื้อเครื่องมือผ่าตัดด้วยไฟฟ้าขนาดใหญ่ เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ให้โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก เครื่องช่วยหายใจให้โรงพยาบาลยะลา เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจให้โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ 1 เครื่อง รวมทั้งกล้องส่องตรวจอวัยวะภายในเช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ให้โรงพยาบาลยะลาและโรงพยาบาลนราธิวาสฯ ด้วย นายแพทย์สุวัจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังจัดสรรงบประมาณอีก 10 ล้านบาทเศษ สนับสนุนให้มัสยิดต่างๆเป็นมัสยิดส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้พี่น้องชาวไทยมุสลิม ได้รับการดูแลสุขภาพระหว่างปฏิบัติศาสนกิจด้วย ในส่วนของโรงพยาบาลนราธิวาสฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางรับส่งต่อผู้ป่วยจากอำเภอต่างๆ มีผู้ป่วยในวันละ 300 ราย ขณะนี้มีปัญหาการแออัดของผู้ป่วยที่หอศัลยกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ไม่สงบ ต้องใช้เวลารักษานานกว่าผู้ป่วยผ่าตัดทั่วไปประมาณ 3-4 สัปดาห์ ต้องเสริมเตียงวันละประมาณ 30-50 เตียง จึงได้ลดความแออัด โดยก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในเพิ่มอีก 120 เตียง คาดเปิดบริการได้ในปลายปีหน้านี้ ********************************** 30 กันยายน 2550


   
   


View 14    30/09/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ