สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 641 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้โรงพยาบาลในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่จ.สุราษฎร์ธานีลงไป พร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลันช่วงวันที่ 20-22 มกราคม 2560 เตรียมแผนจัดบริการไม่ให้กระทบประชาชน เตือนประชาชนระวังอุบัติเหตุลื่นล้ม จมน้ำ หลักเลี่ยงลุยน้ำไหลเชี่ยว หากเจ็บป่วยฉุกเฉินโทร 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการรับมือกับภาวะฝนตกหนักในช่วงวันที่ 20-22 มกราคม 2560 นี้ ว่า ได้กำชับให้โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ที่ตั้งอยู่ในที่ลุ่มและริมแม่น้ำในภาคใต้ ดำเนินการดังนี้ 1.ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด โดยในรอบ 24 ชั่วโมงนี้ได้มีการแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ระวังน้ำท่วมฉับพลัน โดยวันนี้(20 มกราคม) ได้รับรายงานที่ จ.นราธิวาส และจ.ปัตตานี มีฝนตกหนักน้ำเริ่มไหลเข้าท่วมถนน บ้านเรือนประชาชน ส่วนอ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มีฝนตกหนักปริมาณน้ำเพิ่มอย่างรวดเร็ว ขณะนี้โรงพยาบาลยังไม่ได้รับผลกระทบแต่ได้เฝ้าระวังเต็มที่
2.ประเมินความเสี่ยงและวางแผนป้องกันน้ำท่วม เตรียมกระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ สำรองน้ำมัน ขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาเวชภัณฑ์ไว้ที่ปลอดภัย 3.เตรียมความพร้อมจัดบริการผู้ป่วย สำรองยาเวชภัณฑ์ ออกซิเจน อาหารและน้ำดื่มสำหรับผู้ป่วยให้เพียงพอจัดบริการผู้ป่วยอย่างน้อย 7 วัน สำรวจระบบสำรองไฟฟ้า เครื่องปั่นไฟ ให้พร้อมใช้งานหากไฟดับ วางแผนการส่งต่อผู้ป่วย ประสานหน่วยงานในพื้นที่ สำรวจเส้นทางการขนย้าย เตรียมจัดบริการตรวจรักษานอกโรงพยาบาล กรณีน้ำท่วมโรงพยาบาลหรือท่วมเส้นทางเดินทางเข้าออกลำบาก
“หากโรงพยาบาลในพื้นที่ใดประสบภัยน้ำท่วมกระทบต่อการจัดบริการผู้ป่วย หรือเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ประชาชนเข้ารับบริการยากลำบาก ให้รายงานส่วนกลางทันที ที่เบอร์ 02-5901771,092-2511771ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้ส่งทีมแพทย์ พยาบาลสนาม พร้อมยาเวชภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ที่สำรองทีมแพทย์ไว้กว่า 70 ทีม พร้อมสนับสนุนพื้นที่ทันที่ นอกจากนี้ กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เร่งสำรวจกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดและพิจารณาจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พร้อมออกไปดูแลถึงบ้าน ให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง เพราะจากการสำรวจความคิดเห็น สิ่งที่ประชาชนกังวลมากในช่วงน้ำท่วมคือ การขาดยารักษาโรค”นายแพทย์โสภณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลันอันตรายที่พบบ่อยคือเรื่อง อุบัติเหตุลื่นล้ม จมน้ำ ไฟฟ้าดูด โดยในช่วงน้ำท่วมภาคใต้ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม2560 พบผู้เสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ ตกเรือหาปลา ลื่นล้มน้ำพัด เสียชีวิตมากถึง 39ราย ดังนั้นขอให้ประชาชนระมัดระวัง ดูแลบุตรหลานอย่าลงเล่นน้ำ หลีกเลี่ยงลุยน้ำที่ไหลเชี่ยว งดออกหาปลา ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
********************** 20 มกราคม 2560