กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังโรคขาดวิตามินบี 1 อันตรายถึงเสียชีวิต แนะรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ กำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ประสานประสานสำนักงานประมงและสมาคมประมงในจังหวัด  แนะนำผู้ประกอบการประมงเตรียมข้าวซ้อมมือ ธัญพืชให้ลูกเรือ หรือใช้ยาเสริมวิตามิน ป้องกันการขาดวิตามินบี 1

 

          ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล  สกลสัตยาทร  รัฐมนตรีว่าการทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที เช่น กลุ่มลูกเรือประมงที่ต้องออกจับปลาในทะเลมหาสมุทรนานเป็นเดือน โดยในช่วง 3 – 5 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงในกลุ่มลูกเรือประมงหลายเหตุการณ์ ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประสานไปยังสำนักงานประมงและสมาคมประมงในแต่ละจังหวัด แนะนำผู้ประกอบการประมง เตรียมความพร้อมก่อนออกเรือประมง โดยให้จัดเตรียมอาหารทดแทนวิตามิน บี เช่น ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ ธัญพืชต่าง ๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสงดิบ ข้าวโพด ลูกเดือย ฯลฯ นำขึ้นไปเก็บสำรองไว้บนเรือด้วย

 

          นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การขาดวิตามินบี 1 เป็นภาวการณ์ขาดวิตามินที่มีความสำคัญ เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยทั่วไป หากขาดวิตามินบี 1 จะเริ่มต้นด้วยการมีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องผูก เป็นตะคริวบ่อยขึ้น หากมีอาการรุนแรงจะทำให้มีอาการแขนขาไม่มีแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หอบเหนื่อย หัวใจโต หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดี ภาวะขาดวิตามินบี 1 สามารถป้องกันได้ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 สูง เช่น ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช อาทิ ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสงดิบ เป็นต้น หากพบลูกเรือประมงเริ่มมีอาการเบื้องต้นของการขาดวิตามินบี 1 ให้เริ่มให้วิตามินบี 1 ชนิดเม็ดรับประทานทันที หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบนำลูกเรือประมงเข้าพบแพทย์โดยทันที

 

          สำหรับในประชาชนทั่วไป สาเหตุที่ทำให้ขาดวิตามินบี 1 มีหลายสาเหตุ พบได้ในผู้ที่ออกกำลังมาก หรือกินอาหารที่ทำลายวิตามินบี 1 เช่น อาหารดิบๆ ภาวะติดเชื้อหรือการเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่างที่สูญเสียวิตามินบี 1 เช่นโรคพิษสุราเรื้อรัง ไตวายที่ต้องล้างไต ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น ต้องได้รับการเสริมวิตามินบี 1 ซึ่งในบัญชียาหลัก มีทั้งชนิดรับประทานขนาด 10-100 มิลลิกรัม ชนิดฉีด 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

 

 

 ****************************   19 ธันวาคม 2559

 

 

 

 



   
   


View 30    20/12/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ