วันนี้ (19 ธันวาคม 2559) ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดตัวโครงการ "มหานครเวชพฤกษา ภูมิปัญญาเมืองคนดี”(Suratthani Herbal City)พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาเมืองสมุนไพรครบวงจร ระหว่างจังหวัดสุราษฏร์ธานี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลมีนโยบายให้พัฒนาสมุนไพรไทยอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยกำหนดแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย พ.ศ.2560-2564 ให้สมุนไพรสร้างความมั่นคงในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม มีการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของอาเซียน มีมูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว ภายในปี 2564 ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า สุราษฎร์ธานี เป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่องพัฒนาสมุนไพรไทยครบวงจรตามนโยบายรัฐบาล ได้พัฒนาสถานบริการสาธารณสุข ด้วยกลยุทธ์ 6 ด้าน รองรับการพัฒนาเมืองสมุนไพร ดังนี้ 1. เสริมสร้างศักยภาพบุคลากรแพทย์แผนไทย โดยส่งเจ้าหน้าที่อบรมเพิ่มเติม เช่น ใช้สมุนไพร“หนามหวายขม” ในการรักษาโรคตาต้อ , การรักษาโรคสะเก็ดเงิน, การรักษาด้วยยาปรุงสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย(ยาต้ม)  เป็นต้น ปัจจุบันมีแพทย์แผนไทย 135 คน ในสถานบริการทุกระดับ 2. การพัฒนาระบบสารสนเทศ ติดตามการบันทึกข้อมูล 43 แฟ้มให้ถูกต้อง เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์แนวทางการพัฒนางานได้ถูกต้อง 3.การบริหารยาสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงบัญชียาสมุนไพรจังหวัดอย่างต่อเนื่องทุกปี มีการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน เช่น ขมิ้นชันแคปซูล ทดแทนยาขับลม , เพชรสังฆาต ทดแทนยารักษาริดสีดวงทวาร เป็นต้น พร้อมกำหนดมาตรฐานการบรรจุและการตรวจสอบยาสมุนไพรแห้งจากผู้ผลิต 4.พัฒนาระบบบริการการแพทย์แผนไทยให้มีมาตรฐานผ่านเกณฑ์โรงพยาบาลส่งเสริมงานแพทย์แผนไทย 137 แห่ง จากทั้งหมด 200 แห่ง  5.เพิ่มการเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทยมากขึ้น โดยเปิดคลินิกแพทย์แผนไทยคู่ขนานในโรงพยาบาล 17 แห่งจาก 20 แห่ง มีโครงการกระเป๋ายาสมุนไพรในพื้นที่ 11 อำเภอ รวม 3,004 ครัวเรือน มีโครงการสมุนไพรริมรั้วเพื่อการพึ่งตนเอง ในพื้นที่ 8 อำเภอ  6.สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายแพทย์แผนไทย มีการแต่งตั้งคณะทำงานในการพัฒนางานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บริการผู้ป่วยนอก พัฒนาการนวด อบ ประคบสมุนไพร ฯลฯ นอกจากนี้ ได้พัฒนาสถานบริการสาธารณสุขภาครัฐ ด้านแพทย์แผนไทยเป็นแหล่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ บำบัดรักษาโรคด้วยสมุนไพร โดยมีศูนย์สมุนไพร 5 แห่ง ได้แก่ศูนย์สมุนไพร รพ.สต.เชี่ยวหลาน ศูนย์สมุนไพรเขื่อนรัชประภา ศูนย์สมุนไพรบ้านต้นยวน อ.พนม ศูนย์สมุนไพรเศรษฐกิจพอเพียง อ.ดอนสัก และศูนย์สมุนไพรบ้านท่าสะท้อน อ.พุนพิน ซึ่งได้รับความนิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  

          ทั้งนี้ โดยความร่วมมือของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมและพัฒนาการปลูก แปรรูป และการใช้สมุนไพรครบวงจรในจังหวัด และเป็นศูนย์กลางด้านการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรในภาคใต้ ผ่านโครงการมหัศจรรย์สมุนไพรไทยเพื่อการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดำเนินการ           3 ส่วน ต้นทาง มีพื้นที่ปลูกสมุนไพร การอนุรักษ์ป่าชุมชน เครือข่ายหมอพื้นบ้าน กลางทาง โรงแปรรูปสมุนไพร       โรงผลิตและโรงงานสารสกัด ตลาดกลางสมุนไพร และปลายทาง ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการแพทย์แผนไทย แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กระเป๋ายาสมุนไพรชุมชน สมุนไพรริมรั้ว และบริการการแพทย์แผนไทยครบวงจร

 ****************************  19 ธันวาคม 2559



   
   


View 22    21/12/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ