ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวังโรคฉี่หนูและตาแดงหลังน้ำลดในจังหวัดประสบภัยน้ำท่วมแนะประชาชนให้สวมรองเท้าบู๊ทป้องกันโรคฉี่หนูและการเกิดบาดแผลขณะเดินลุยน้ำย่ำโคลน

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า เกี่ยวกับมาตรการดูแลประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ว่าได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวังโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) ซึ่งเชื้อโรคนี้อาจปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำขังที่เป็นหลุมบ่อเล็กๆ ซึ่งจะมีปริมาณเชื้อโรคเข้มข้น และเชื้อมีชีวิตอยู่ในน้ำ ดินแฉะๆได้นานหลายวัน มีโอกาสติดต่อมาสู่คนได้สูง โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอกต่างๆที่ขาและเท้า หรือแม้กระทั่งผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนานๆ โดยดำเนินการเฝ้าระวังผู้ป่วยในพื้นที่เป็นเวลา 15 วันภายหลังน้ำลดและรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค เพื่อป้องกันการป่วยและการเสียชีวิต

โรคที่ต้องเฝ้าระวังอีกโรคคือ โรคตาแดง ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตา น้ำสกปรกเข้าตา ติดต่อโดยการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคตาแดง โดยจะมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา มักมีขี้ตามาก ตาบวม จะเป็นอยู่ประมาณ 5-14 วัน  การป้องกันโรคนี้ ประชาชนควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย อย่าให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตา หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย และหากป่วยเป็นโรคตาแดง ไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง ควรรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที ไม่ควรลงเล่นน้ำในสระหรือคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อ  โรคแพร่กระจายในน้ำ

          นอกจากนี้ เร่งให้ความรู้ประชาชนกับโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคอุจจาระร่วง ไข้หวัดใหญ่ น้ำกัดเท้า เป็นต้น จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ    

ทั้งนี้ จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 4ธันวาคม 2559 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยจากโรคฉี่หนู 2,083 ราย ในภาคใต้พบผู้ป่วย  610 ราย เสียชีวิต 14 ราย และข้อมูลเฝ้าระวังโรคตาแดงของสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1มค 2559 - 6 ธค 59 พบผู้ป่วยโรคตาแดงทั่วประเทศ 117,331 ราย ในภาคใต้พบผู้ป่วย 12,890 ราย

                                                          ************************************* 10 ธันวาคม 2559

 



   
   


View 25    10/12/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ