รมว.สธ.ชื่นชมบูรณาการ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.นครศรีธรรมราช  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมบูรณาการภาครัฐ เอกชน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดดูแลประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมให้ครอบคลุม ในพื้นที่เข้าถึงบริการลำบากให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการ เน้นดูแลกลุ่มเปราะบาง เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พร้อมวางแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด

วันนี้(9 ธันวาคม 2559)ที่ จ.นครศรีธรรมราช ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมให้กำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมติดตามการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบน้ำท่วม ที่ โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ อ.เฉลิมพระเกียรติ รพ.สต.เขาพังไกร รพ.สต.มาบยอด อ.หัวไทร มอบยาชุดช่วยน้ำท่วม 77,000 ชุด ยาทาน้ำกัดเท้า 2,400 หลอด เวชภัณฑ์ที่จำเป็น  และให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้มาเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เสียสละทำงานดูแลช่วยเหลือประชาชนในภาวะยากลำบาก ขอชื่นชมการบูรณาการของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่อย่างดีที่สุด ทั้งนี้ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด/ผู้อำนวยการโรงพยาบาล วางแผนการจัดบริการในพื้นที่น้ำท่วมให้ครอบคลุม ในพื้นที่ที่ประชาชนเข้าถึงบริการลำบาก ให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการ เน้นดูแลกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขและหน่วยงานในท้องถิ่น

สำหรับในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช มีหน่วยบริการในสังกัดที่ประสบภัยน้ำท่วมได้รับความเสียหาย 21 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เสียหายเล็กน้อย อาทิ หลังคารั่ว ประตู เตียง ตู้เสียหาย ทั้งนี้ ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชน 53 ทีมให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ ในบางพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงได้จัดเรือท้องแบนออกให้บริการประชาชนถึงบ้าน ทั้งตรวจรักษา ให้คำปรึกษา ควบคุมป้องกันโรค รวมทั้งปรับปรุงสุขาภิบาลหลังน้ำลด   โดยได้สำรวจ จัดทำทะเบียน ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ติดต่อสอบถามอาการทุกวัน ในกรณีมีโรคแทรกซ้อนได้ส่งทีมสหวิชาชีพช่วยเหลือถึงบ้าน โรคที่พบจากการออกหน่วยบริการส่วนใหญ่ คือโรคน้ำกัดเท้าพบผู้ป่วยเกือบ 3,000 คน ไข้หวัด 500 กว่าคน ให้การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เกือบ 700 คน ซึ่งประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ดังนี้1.ติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 2.วางแผนป้องกันน้ำท่วม เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ สำรองน้ำมัน 3.แผนการจัดบริการผู้ป่วย ขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา-เวชภัณฑ์ไว้ที่ปลอดภัยและสำรองให้เพียงพอ สำรวจระบบสำรองไฟฟ้า เครื่องปั่นไฟ ให้พร้อมใช้งานหากไฟดับ 4.สำรวจเส้นทางการขนย้าย เตรียมจัดบริการตรวจรักษานอกโรงพยาบาล กรณีน้ำท่วมโรงพยาบาลหรือท่วมเส้นทางเดินทางเข้าออกลำบาก

  

นอกจากนี้ ขอประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การป้องกันโรค/ภัยที่มากับน้ำท่วม เช่น การจมน้ำ ซึ่งน้ำท่วมครั้งนี้ ที่ จ.นครศรีธรรมราช มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำมากถึง 8 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ ขอให้เตรียมแผนป้องกันควบคุมโรคหลังน้ำลด ปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยส่วนกลางจะส่งทีมผู้เชี่ยวชาญจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเพื่อประเมิน เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมปรับปรุง ซ่อมบำรุง จัดหาทดแทน ให้พร้อมสำหรับบริการประชาชน

************************ 9 ธันวาคม 2559



   
   


View 16    09/12/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ