กระทรวงสาธารณสุข พบชาวนาเมืองยโสธรเป็นโรค”หนังเน่า” กันมาก ปีนี้พบป่วยแล้ว 79 ราย ในจำนวนนี้พบว่าเป็นชาวนาที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานสูงถึงร้อยละ 58 และพบในผู้ที่นิยมกินยาชุดด้วยร้อยละ 23 แนะการป้องกันให้ให้ชาวไร่ชาวนาไปตรวจโรคเบาหวานที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน และให้สวมรองเท้าบู๊ธทุกครั้งขณะ ทำนา เผยขณะนี้มีประชาชนกว่าร้อยละ 50 ไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคแนะผู้ที่ถูกตะปูตำ หรือตอไม้ในน้ำทิ่มแทงที่เท้า ควรทำแผลให้ถูกวิธี เพราะโอกาสแผลอักเสบสูง นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคหนังเน่าหรือ โรค เอ็นเอฟ (Necrotizing Fascitis) ว่า โรคเอ็นเอฟเป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเน่าเปื่อย ในปีนี้พบคนไข้ โรคหนังเน่าที่จังหวัดยโสธร 79 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนา มีแผลขีดข่วน และเมื่อลงไปแช่น้ำทำให้ติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อรุนแรงมักจะเป็นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ซึ่งในชนบทชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ร้อยละ 50 มักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวาน ได้มอบนโยบายให้จังหวัดและอำเภอช่วยกันตรวจหาเบาหวานในชาวไร่ชาวนา เพราะหาก พบเป็นโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหนังเน่ามากยิ่งขึ้น โดยในปี 2548-2549 พบผู้ป่วยโรคนี้ปีละประมาณ 100 ราย “การป้องกันโรคนี้ ขณะออกไปทำงานในไร่นา ควรจะสวมรองเท้าบู๊ธ ป้องกันไม่ให้เท้ามีบาดแผล แม้กระทั่งรอยขีดข่วนก็ตาม โดยหากมีการติดเชื้อที่รุนแรงหลายๆตัวเข้าบาดแผล จะทำให้เกิดอาการอักเสบที่รุนแรง บางรายอาจต้องตัดแขนหรือขา ซึ่งการรักษาค่อนข้างยากมากสำหรับโรคนี้ ดังนั้นขอให้ชาวไร่ชาวนาไปตรวจหาเบาหวานได้ที่ สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน และได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร เข้าไปควบคุมและป้องกันโรคนี้อย่างใกล้ชิด” นายแพทย์มงคล กล่าว ทั้งนี้จากรายงานการเฝ้าระวังโรคหนังเน่ารายใหม่ของจังหวัดยโสธรในปี 2550 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 21 กันยายน 2550 พบผู้ป่วย 79 ราย มากที่สุดที่ อ.เมือง 39 ราย รองลงมาคือ อ.คำเขื่อนแก้ว 10 ราย อ.เลิงนกทา 9 ราย อ.กุดชุม 8 ราย โดยพบมีการระบาดมากในระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทำนาและเป็นฤดูฝน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคืออายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือกลุ่มอายุ 55-64 ปี และ 45-54 ปีตามลำดับ พบผู้ป่วยอายุมากที่สุด 84 ปี อายุน้อยที่สุด 28 ปี เป็นผู้หญิงมากกว่าชาย 18 เท่า เมื่อวิเคราะห์ผู้ป่วยที่เป็นโรคหนังเน่าแต่ละราย พบว่าเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวคือเป็นโรคเบาหวานมากที่สุดถึงร้อยละ 58 รองลงมาได้แก่ โรคอ้วนร้อยละ 32 เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ถูกของมีคมบาด เหยียบตะปู หนามทิ่มตำ มีแผลพุพอง ฯลฯ ร้อยละ 25 และเกิดจากการกินยาชุดเป็นประจำร้อยละ 23 โดยเฉพาะยาชุดนั้น มีอันตรายมาก ส่วนใหญ่มักจะมีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ ยาต้านอักเสบและยาแก้ปวด ซึ่งชาวนาชาวไร่ เกษตรกรมักชอบกิน แก้ปวดแก้เมื่อยหลังทำงาน รวมทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาการปวดข้อ ปวดเมื่อย ยาประเภทนี้หากใช้ไปนานๆ ยาจะไปกดภูมิต้านทานในร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย ทำให้ผิวหนังบางลง และเกิดโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน ชาวบ้านไม่ควรซื้อกินเองอย่างเด็ดขาด การใช้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น สำหรับการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคหนังเน่าของจังหวัดยโสธร ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ประชาสัมพันธ์เตือนภัย และค้นหาผู้ป่วยโรคหนังเน่ารายใหม่เพิ่มเติม และออกติดตามเยี่ยมผู้ป่วยรายเก่าทุกหมู่บ้าน โดยหากมีผู้ป่วยสงสัย ให้สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลชุมชน ส่งต่อไปที่โรงพยาบาลยโสธรทันที และกำชับให้โรงพยาบาลมีการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว นอกจากนี้ให้เพิ่มโรคหนังเน่าเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาในจังหวัดยโสธร โดยให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งรายงานและสอบสวนโรคทันทีที่พบผู้ป่วย ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหนังเน่านี้ เกิดจากการอักเสบของผิวหนังอย่างรุนแรง และลุกลามอย่างรวดเร็ว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดรวมกัน มักพบในรายที่มีบาดแผลเล็กๆ ที่เท้ามาก่อน เช่น มีดบาด ตะปูตำ หนามข่วน สัตว์กัด ฯลฯยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการอักเสบง่าย รวมทั้งพบในผู้ที่มีโรคประจำตัว มีภูมิต้านทานไม่ดี ที่สำคัญได้แก่โรคเบาหวาน ไตวาย หลอดเลือดผิดปกติ มะเร็ง ให้ยาเคมีบำบัด คนสูงอายุ คนอ้วน คนที่กินยาชุด หรือดื่มสุราเป็นประจำ อาการในระยะแรก หลังติดเชื้อ ผิวหนังจะบวมแดง ปวด มีไข้ และการอักเสบลุกลามไปเรื่อยๆ และ 2-3 วันต่อมา อาการปวดจะลดลง แต่ผิวหนังจะมีสีม่วงคล้ำ หรือมีตุ่มน้ำพองขึ้น ไข้สูง แผลขยายและบวมมากขึ้น ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา เชื้อจะเข้าสู่กระแสโลหิต เกิดเนื้อตาย โดยสังเกตุง่ายๆคือ แผลมีสีม่วงคล้ำ หรือดำขึ้น อาจทำให้ช็อก เสียชีวิตได้ โรคนี้มีอัตราการตายร้อยละ 9-64 ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ดังนั้นเมื่อเป็นแล้วต้องได้รับการดูแลรักษาโดยเร็วที่สุด โดยการผ่าตัดตกแต่งบาดแผลเอาหนัง เนื้อที่ตายออกให้หมด ป้องกันไม่ให้เชื้อลุกลาม และให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อหลายชนิดร่วมกัน อาการจะดีขึ้นประมาณ 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาจมีการทำศัลยกรรมตกแต่ง เอาผิวหนังบริเวณอื่นมาปะที่บริเวณแผลเดิม แต่ในบางรายเชื้อลุกลามทำให้กล้ามเนื้อเน่า จนต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้งไป กลายเป็นคนพิการได้ สำหรับการป้องกันโรคหนังเน่า ที่สำคัญที่สุดคือต้องระวังอย่าให้มีบาดแผล ถ้ามีบาดแผลเกิดขึ้นควรทำความสะอาด อย่าให้สิ่งสกปรกปนเปื้อนเข้าบาดแผล หากมีไข้ แผลบวม ปวดแผลมาก โดยเฉพาะบาดแผลเกิดจากวัสดุที่สกปรกทิ่มแทง เช่น ตะปู ไม้ที่อยู่ในน้ำ ควรไปพบเจ้าหน้าที่ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อทำความสะอาดแผล อย่างถูกต้อง เพราะแผลประเภทนี้ปากแผลจะเล็ก แต่ด้านในลึกกลวง การอักเสบจะมีโอกาสเกิดได้สูงมาก


   
   


View 17    23/09/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ