กระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในภาคใต้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประเมินความเสี่ยง  เตรียมแผนป้องกันน้ำท่วม  ขนย้าย ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ไว้ในที่ปลอดภัย  เตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องสำรองไฟ เครื่องปั่นไฟ  สำรวจและวางแผนดูแลกลุ่มเสี่ยง  ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรขอความช่วยเหลือ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง                                                                              

 นายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการรับมือกับภาวะฝนตกหนักในช่วงวันที่4-6 ธันวาคมนี้ ว่า ได้กำชับให้โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ภาคใต้บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จึงสั่งการให้ดำเนินการดังนี้ 1. เฝ้าระวัง  ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด 2. พร้อมวางแผนป้องกันน้ำท่วม เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ สำรองน้ำมัน 3.แผนการจัดบริการผู้ป่วย ขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา-เวชภัณฑ์ไว้ที่ปลอดภัยและ สำรองให้เพียงพอ รวมทั้ง ออกซิเจน อาหารและน้ำสำหรับผู้ป่วย สำรวจระบบสำรองไฟฟ้า เครื่องปั่นไฟ ให้พร้อมใช้งานหากไฟดับ 4. สำรวจเส้นทางการขนย้าย  เตรียมจัด บริการตรวจรักษานอกโรงพยาบาล กรณีน้ำท่วมโรงพยาบาลหรือท่วมเส้นทางเดินทางเข้าออกลำบาก

          นอกจากนี้ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำรวจกลุ่มเสี่ยงและวางแผนจัดการรักษาต่อเนื่อง ได้แก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดในความรับผิดชอบ ให้จัดทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พร้อมออกไปดูแลถึงบ้าน ทั้งนี้ ได้รับรายงานว่าโรงพยาบาลในพื้นที่ภาคใต้ ได้มีการขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา-เวชภัณฑ์ขึ้นที่สูงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

        อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ฝนตกหนัก อากาศจะมีความชื้นสูง ขอให้ประชาชนสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด   ไม่เปียกชื้น เพื่อรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ  หากมีบุคคลในครอบครัว ป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้นอนพักอย่างเต็มที่  ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นหากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน  ให้รีบพบแพทย์หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน ทั้งนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข  ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษาความสะอาดเพื่อป้องกันโรคที่จะมากับน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคฉี่หนู ประชาชนภายหลังลุยน้ำ ย่ำโคลนขอให้ล้างทำความสะอาดมือ เท้า ด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งทุกครั้ง แต่หากมีอาการปวดศีรษะ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา  คลื่นไส้ ท้องเสีย  ให้รีบพบแพทย์ทันที ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง 

       *********************   4 ธันวาคม 2559

 

 



   
   


View 23    04/12/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ