กระทรวงสาธารณสุข จับมือภาคีเครือข่ายด้านพัฒนาการเด็ก ขับเคลื่อนงานพัฒนาการเด็กปี 2560  ตั้งเป้าค้นหาเด็กสงสัยพัฒนาการล่าช้า พร้อมกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วย “คู่มือเฝ้าระวังเด็กและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย” และ “คู่มือการประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยง” ของ กรมสุขภาพจิต
 
วันนี้ (1 ธันวาคม 2559) ที่ โรงแรมเบส เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ กทม. นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดการประชุม และบรรยายพิเศษ เรื่อง “ก้าวต่อไปของการส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทย 2560” โดยมี ผู้บริหาร นักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร กรมแพทย์ทหารบก และภาคีเครือข่ายกว่า 500 คน เพื่อประเมินผลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ รวมทั้งกระตุ้นติดตามระบบการส่งต่อเด็กพัฒนาการล่าช้า
 
นายแพทย์โสภณ  กล่าวว่า   กระทรวงสาธารณสุข  ได้จัดทำโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระ-เกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ระหว่าง 1 เมษายน 2558-31 มีนาคม 2561 เพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัย อายุแรกเกิดถึง 5 ปีทุกคนได้รับการส่งเสริมพัฒนาการที่ถูกต้อง โดยในระยะที่ 1 ของโครงการฯได้รณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย 4 ช่วงวัยอายุ 9, 18, 30 และ 42 เดือน ข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2559 พบเด็กพัฒนาการสงสัยล่าช้าร้อยละ 23.3   โดยในจำนวนนี้มีปัญหาเรื่องการส่งต่อติดตามถึงร้อยละ 43  ทำให้ไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่ถูกต้องและทันท่วงที  
 
ระยะที่ 2  ของโครงการฯ ได้มอบนโยบายให้ทุกจังหวัดดำเนินการดังนี้ 1.ใช้กลไกของอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด ร่วมกับแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ มีระบบเฝ้าระวังการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก 2.มีผู้บริหารโครงการระดับจังหวัดและอำเภอ ติดตาม ให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3.ศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ มีมาตรฐาน มีครูพี่เลี้ยงที่ผ่านการอบรม สามารถดูแลส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็กปฐมวัย และ4.มีคลินิกสุขภาพเด็กดี ช่วยตรวจพัฒนาการว่าล่าช้าหรือสงสัยว่าล่าช้า จัดระบบการช่วยเหลือและส่งต่อที่เหมาะสม โดยตั้งเป้าค้นหาเด็กสงสัยพัฒนาการล่าช้าให้ครอบคลุม และติดตามกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยขอให้คำนึงถึงปัจจัยเอื้อที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้าได้ อาทิเช่น การขาดภาวะโภชนาการที่ดีและมีคุณค่า การเลี้ยงดู การใช้สื่อโทรทัศน์ และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างครอบคลุมเหมาะสม
 
ด้าน นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าในการดำเนินการเฝ้าระวัง คัดกรอง และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก  กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาเครื่องมือขึ้นใหม่ที่เรียกว่า “คู่มือเฝ้าระวังเด็กและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย” และ“คู่มือการประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยง” โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นคนคัดกรอง และแนะนำให้พ่อแม่  ผู้ดูแลเด็กกลับไปส่งเสริมพัฒนาการเด็กต่อที่บ้าน หลังการคัดกรองถ้าพบว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้า จะมีระบบส่งต่อเพื่อประเมินด้วยเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการต่อไป       
*************************** 1 ธันวาคม 2559
 
 
 
 
 
 
**************


   
   


View 18    01/12/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ