กระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้หญิงไทยถูกมะเร็งปากมดลูก คุกคามชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 เสียชีวิตปีละ กว่า 3 พันราย ป่วยเพิ่มปีละ 6 พันราย ชี้กลุ่มที่เสี่ยงสูงคือหญิงเปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย รวมทั้งหญิงสูบบุหรี่เป็นประจำซึ่งมีกว่า 5 แสนคน เตรียมอบรมเติมความรู้โรคมะเร็งให้ อสม.เพิ่มอีก 2 แสนคน ทำเชิงรุก ชักชวนให้ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจหามะเร็งปาดมดลูก ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านฟรี และรักษาฟรี
เช้าวันนี้ (21 กันยายน 2550) ที่โรงแรมนารายณ์ กทม. นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่องร่วมต่อสู้ มะเร็งปากมดลูก...ภัยร้ายที่ป้องกันได้ จัดโดยองค์การแฟมิลี เฮลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย สมาคมแพทย์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แห่งประเทศไทย สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน สถาบันทางวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ ร่วมหามาตรการ ในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก พัฒนาวิธีการดำเนินการป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนหาทางเลือกในการป้องกันโรคที่ดีและเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ
ในการนี้นายแพทย์วัลลภ ได้บรรยายพิเศษเรื่องงานป้องกันมะเร็งปากมดลูก ในสถานการณ์ปัจจุบัน ว่า ขณะนี้มะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 ประมาณปีละกว่า 3,000 ราย เฉลี่ยวันละ 8 ราย แต่ละปีพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 6,000 ราย อายุที่พบเฉลี่ยประมาณ 45 -50 ปี มักพบในชนบทมากกว่าผู้ที่อยู่ในเขตเมือง ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 80 มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า สาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ชื่อว่าฮิวแมนเพ็บพิโลม่าไทป์ 16และ18 หรือที่เรียกว่าเอชพีวี (Human Papillomavirus :HPV) )ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ไวรัสตัวนี้จะอยู่ที่บริเวณหนังหุ้มส่วนปลายของอวัยวะเพศชายที่ขาดการดูแลความสะอาด กลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าคนทั่วไปได้แก่ ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือติดเชื้ออื่นๆเช่น เชื้อเริมโรคหรือเอดส์ รวมทั้งผู้หญิงที่สูบบุหรี่เป็นประจำด้วย ซึ่งขณะนี้มีมากถึง 5 แสนกว่าคน ควรเลิกสูบ เนื่องจากสารพิษในบุหรี่ จะกระตุ้นให้เซลล์ที่ปากมดลูกมีการแบ่งตัวปิดปกติ มีหลักฐานยืนยันชัดเจนจากนักวิทยาศาสตร์ ที่ตรวจพบสารพิษในบุหรี่ในน้ำเมือกที่ปากมดลูกของผู้หญิงที่สูบบุหรี่
อย่างไรก็ตาม การดำเนินของโรคนี้ค่อนข้างช้า เริ่มตั้งแต่เซลล์มีการเปลี่ยนแปลง จนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง จะใช้เวลาประมาณ 10-15 ปี ทำให้ผู้หญิงที่เป็นโรคมักจะไม่รู้ตัวมาก่อน โดยพบว่าผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกกว่า ร้อยละ 80 จะมาพบแพทย์ในระยะที่เซลล์มะเร็งลุกลามแล้ว ยิ่งหากลุกลามไปอวัยวะอื่นนอกเชิงกราน การรักษาจะไม่ค่อยได้ผล ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาประมาณรายละ 1 ล้านบาท โอกาสรักษาหายขาดมีน้อยมาก และมักจะเสียชีวิตหลังจากเป็นแล้วประมาณ 5 ปี
ขณะนี้ เรามีระบบการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ที่สามารถตรวจพบรอยโรคในระยะก่อนเป็นมะเร็ง และรักษาก่อนที่เซลล์มะเร็งจะลุกลาม สามารถรักษาหายขาดได้เกือบ 100 เปอร์เซนต์ ดังนั้น ต้องรณรงค์ให้ผู้หญิงทุกคนที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ให้ตรวจภายในที่เรียกว่าวิธีแป็บสเมียร์(Pap Smear) โดยป้ายเยื่อบุปากมดลูกไปตรวจหาเซลล์มะเร็งทุก 5 ปี จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า จะช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกลงได้ร้อยละ 84 และลดการตายของผู้หญิงจากโรคนี้ได้มาก สำหรับผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ มีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริบกะปรอย มีเลือดออกระหว่างหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์ และมีอาการตกขาวผิดปกติ ต้องพบแพทย์ทันทีนายแพทย์วัลลภกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 75 จังหวัด ตรวจหาผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป๊บเสมียร์ เน้นในกลุ่มอายุ35,40,45,50,55,60 ปี ใช้เวลา 15 วันทราบผล หากพบเซลล์เริ่มผิดปกติ จะทำการรักษาฟรี มีโอกาสหายสูงถึง ตั้งเป้าตรวจ 800,000 รายต่อปี ผลการดำเนินการในปี 2549 พบว่า มีประชาชนเข้ารับการตรวจทั้งสิ้น 435,995 ราย คิดเป็นร้อยละ 54 ในจำนวนนี้พบเซลล์ผิดปกติ 6,276 ราย แบ่งเป็นอยู่ในระยะมะเร็ง 384 ราย และอยู่ในระยะก่อนเป็นมะเร็ง 5,892 ราย ทุกรายได้รับการรักษาต่อฟรี
สำหรับในปลายปี 2550 นี้ กระทรวงสาธารณสุข จะจัดอบรมพัฒนาความรู้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม. หมู่บ้านละ 3 คน รวม 200,000 คน ให้มีความรู้เรื่องมะเร็งปากมดลูกและวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็ง เนื่องจากที่ผ่านมาจะพบปัญหา ผู้หญิงจะอายหมอ ไม่กล้ามาตรวจ จึงจะให้ อาสาสมัครสาธารณสุข ซึ่งประมาณร้อยละ 70 เป็นผู้หญิงอยู่แล้ว ให้เป็นผู้ชักชวนผู้หญิงในหมู่บ้าน ให้ไปรับการตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกคนสามารถตรวจได้แล้ว ในรายที่มีผลการตรวจผิดปกติจะได้รับการดูแลรักษามีระบบการส่งต่ออย่างครบวงจร ดังนั้นจึงขอเชิญชวนผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ให้มาตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านก่อนที่จะสายเกินไป โดยตรวจฟรีและรักษาฟรี นายแพทย์วัลลภ กล่าวในตอนท้าย
กันยายน 5/2-3******************************************* 21 กันยายน 2550
View 16
21/09/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ