ศูนย์ปฏิบัติการร่วมการแพทย์และสาธารณสุข สรุปผลการปฏิบัติการหน่วยบริการทางการแพทย์ ดูแลประชาชนที่เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ บริเวณสนามหลวง ในพระบรมมหาราชวัง 44 หน่วย และจุดรองรับประชาชน 15 จุด มีผู้มารับบริการเฉลี่ยวันละ 16,000 คน ส่วนใหญ่เป็นการปฐมพยาบาล วัดความดันโลหิต ขอแอมโมเนีย แนะประชาชนที่ต้องเดินทางมาคนเดียวให้เขียนใส่กระดาษระบุประวัติโรคประจำตัวติดตัว

วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2559) นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ และศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันวางแผนการดำเนินการเตรียมความพร้อม ประสานงานในการให้บริการ การจัดการทางการแพทย์ทั้งภาวะปกติและกรณีเกิดเหตุวิกฤต ทางการแพทย์ เพื่อดูแลประชาชนที่เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ โดยร่วมกับหน่วยงานจากภาครัฐ องค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ 44 หน่วย ประกอบด้วย หน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์สยามมกุฎราชกุมาร หน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี สังกัดโรงเรียนแพทย์ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร แพทยสภา มูลนิธิพอ.สว. สมาคมโรงพยาบาลเอกชน องค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ สภากาชาดไทย และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

ศูนย์ปฏิบัติการร่วมการแพทย์และสาธารณสุข รายงานผลการปฏิบัติงานของวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 16,486 คน ส่วนใหญ่เป็นการปฐมพยาบาล เช่น แจกแอมโมเนีย ขอรับยาแก้ปวด ยานวด น้ำตาลเกลือแร่ วัดความดันโลหิต ตรวจน้ำตาลในเลือด การตรวจโรค และการรักษา เช่น ระบบทางเดินหายใจ ปวดศีรษะ/เวียนศีรษะ ไข้ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดหลังปวดขา แพ้ ผื่นคัน เหนื่อย อ่อนเพลีย รวมทั้งรับการปรึกษาเรื่องสุขภาพ และรับการประเมินปัญหาสุขภาพจิต 39 คน มีปฏิกิริยาโศกเศร้า ซึมเศร้า และเครียด ซึ่งได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการปรับภาพจิตใจแล้วตั้งแต่ สรุปผลการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2559-16 พฤศจิกายน 2559 มีผู้รับบริการรวมทั้งสิ้น 763,241 คน เป็นการให้บริการด้านร่างกาย 739,164 คน ด้านจิตใจ 3,870 คน การให้บริการ

ทั้งนี้ ขอแนะนำประชาชนที่ต้องเดินทางมาคนเดียวควรเขียนกระดาษติดที่อกเสื้อหรือพกติดตัวระบุว่าแพ้ยาอะไร มีโรคประจำตัวอะไร เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการดูแลและติดต่อญาติ หากมีอาการเจ็บป่วยสามารถรับบริการได้ที่จุดบริการด้านการแพทย์ ที่บริเวณรอบท้องสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง 15 จุด ได้แก่ ข้างโรงแรมรัตนโกสินทร์ สนามหลวงฝั่งเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า สนามหลวง(กองอำนวยการกทม.)ประตูวิเศษชัยศรี(กองอำนวยการตำรวจ) ท่าช้าง ข้างกระทรวงกลาโหม สนามหลวง(ตรงข้ามศาลฎีกา) สนามหลวง(ตรงข้ามศาลหลักเมือง) ในพระบรมมหาราชวัง สนามหลวง(โรงพยาบาลสนาม/ศูนย์ปฏิบัติการร่วมฯ) สนามหลวง(ตรงข้ามวัดมหาธาตุฯ) สนามหลวง(ฝั่งพระบรมมหาราชวัง) สนามหลวง(ด้านทิศเหนือ) และที่จุดรับรองประชาชน 15 จุด ได้แก่ บริเวณสนามหลวง ท่าช้าง ม.ธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์) ท่าราชวรดิษฐ์(ประตูเทวาภิรมย์) หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน โรงละครแห่งชาติ วัดพระเชตุพนฯ วัดมหาธาตุฯ ข้างกระทรวงกลาโหม สำนักงานสลากินแบ่งรัฐบาล โรงเรียนสตรีวิทยา โลหะปราสาท ถนนกัลยาณไมตรี(กระทรวงการต่างประเทศ/สวนสราญรมย์) สนามม้านางเลิ้ง และหน้าศาลฎีกา
****************** 17 พฤศจิกายน 2559