กระทรวงสาธารณสุขแนะไหว้สารทจีนสุขภาพดี เลือกซื้ออาหารปลอดภัย ย้ำเป็ด-ไก่ ต้องสด ใหม่ เน้นปรุงสุก สะอาด ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง น้ำหนักตัวเกิน ควรกินอาหารประเภทต้ม ตุ๋น ผักใบเขียว  ลดอาหารทอด ลดหวาน มันเค็ม กินผลไม้แทนขนมหวาน
 
          นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงเทศกาลไหว้สารทจีนที่จะมาถึงในวันที่ 17สิงหาคมนี้ ว่า วันสารทจีนจะมีพิธีไหว้บรรพบุรุษและไหว้เจ้า ทำให้มีการจับจ่ายซื้ออาหารสำหรับไหว้ และนำไปบริโภคจำนวนมาก การเฝ้าระวังเรื่องของความปลอดภัยด้านอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ จากรายงานสถานการณ์โรคที่ต้องเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้ง แต่ 1 มกราคม – 1 สิงหาคม 2559 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจำนวน 77,000 คน และผู้ป่วยท้องเสีย จำนวน 768,250 คนเสียชีวิต 3 คน สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2559เป็นเดือนที่มีเทศกาลตรุษจีน พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจำนวน 11,398 คน และผู้ป่วยท้องเสียจำนวน 107,341 คน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ การบริโภคอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ และการมีสุขาภิบาลในสถานที่เตรียม ปรุง และจำหน่ายอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ  
 
          ดังนั้น ควรเลือกซื้ออาหารจากร้านค้า ตลาด หรือแหล่งจำหน่ายที่สะอาดมีสุขลักษณะที่ดี ได้รับการรับรองมาตรฐาน  ผู้ที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง น้ำหนักตัวเกิน  เลือกรับประทานอาหารประเภทต้ม ตุ๋น กินผักใบเขียว   หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด ลด หวาน มัน เค็ม ส่วนผู้ที่นิยมรับประทานขนมเซ่นไหว้ เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นแป้งและน้ำตาล จะต้องจำกัดปริมาณในการรับประทาน เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไป หรือเลือกกินผลไม้แทน
 
          นอกจากนี้ ควรระวังเรื่องอัคคีภัย จุดธูปเทียนในภาชนะทนไฟ รอจนกระทั่งธูปหมด เผากระดาษเงิน กระดาษทอง ในภาชนะที่ทนไฟ มีฝาปิดมิดชิด หากต้องจุดประทัดควรจุดในที่โล่ง พยายามอยู่ห่างจากพื้นที่จุดประทัดอย่างน้อย 10เมตร เพื่อป้องกันสะเก็ดไฟกระเด็นเข้านัยน์ตา และดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด อย่าให้เด็กนำประทัดไปจุดเล่น เพราะอาจเกิดอันตรายได้
 
          สำหรับการเลือกซื้ออาหารเซ่นไหว้ให้ปลอดภัย ควรเลือกซื้อสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ต้องสดใหม่ เนื้อแน่น ไม่มีสีคล้ำ ไม่มีจ้ำเลือด ไม่ทาสีตามตัวสัตว์ ไม่มีกลิ่นเหม็น สำหรับเนื้อหมูควรเป็นสีอมชมพู ไม่ซีดหรือแดงจนเกินไป ที่สำคัญต้องไม่มีเม็ดสาคูหรือตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด ไข่ไก่ และไข่เป็ดควรเลือกฟองที่สดใหม่ เปลือกไข่ไม่แตก หรือบุบร้าว ไม่มีมูลติด ส่วนผักควรเป็นผักปลอดสารพิษ สีผักต้องสดเป็นธรรมชาติ ไม่เหี่ยวเฉา ช้ำ เน่า หรือขึ้นรา รวมทั้งไม่ควรเลือกผักที่มีคราบขาวของแมลงหรือมีเศษดินตกค้าง 
 
          สำหรับวัตถุดิบทุกชนิด ก่อนปรุงควรล้างให้สะอาด ผักและผลไม้ต้องล้างด้วยน้ำสะอาด 2 - 3 ครั้ง เนื้อสัตว์ต้องปรุงให้สุกทั่วทั้งชิ้น เพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิตัวตืดและก่อนนำมารับประทานควรอุ่นให้สุกอีกครั้ง ควรเลือกใช้เครื่องปรุงรสที่มีเครื่องหมาย อย. หรือ มอก. รับรอง 
 
*********************************** 14 สิงหาคม 2559


   
   


View 13    14/08/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ