รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พอใจผลการรณรงค์ตรวจวัดความดันโลหิต ประชาชนไทยที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ระหว่าง 2-8 กันยายน 2550 เพื่อป้องกันภัยเงียบ ประสบผลสำเร็จเป็นที่ 1 ในโลกที่ทำได้ โดนใจคนไทย โดยตรวจทั้งหมด 20 ล้านกว่าคน พบเป็นโรคความดันโลหิตสูงกว่า 2 ล้านคน หรือพบได้ทุก 1 ใน 10 คน ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงที่พบครั้งนี้ จะนัดให้การดูแลต่อเนื่องที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการรณรงค์ตรวจวัดความดันโลหิตฟรี แก่ประชาชนไทยที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปพร้อมกันทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 2 -8 กันยายน 2550 โดยใช้พลังของอาสาสมัครสาธารณสุขกว่า 8 แสนคนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งรัฐและเอกชน อีกกว่า 2 แสนคน ให้บริการตรวจคัดกรองหาผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่มีอาการแสดง ให้ได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าคนที่เป็นโรคนี้กว่าครึ่งไม่รู้ตัวเองมาก่อน โดยโรคนี้มีอันตรายมาก เป็นสาเหตุทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงทั้งหัวใจและสมองตีบตันหรือแตก ทำให้เกิดโรคหัวใจ คนไทยเสียชีวิตปีละกว่า 11,000 ราย และทำให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ มีคนไทยป่วยปีละกว่า 150,000 ราย เสียชีวิตกว่า 45,000 ราย และต้องกลายเป็นคนพิการเพิ่มขึ้นปีละ 84,000 ราย ทำให้เป็นภาระครอบครัว สังคม ประเทศต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละ 15,000 ล้านบาท ซึ่งโรคดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับคนอายุ 35 ปีขึ้นไป และยิ่งพบมากในกลุ่มของผู้สูงอายุ จึงต้องเร่งรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจ กระตุ้นให้คนไทยตื่นตัวหันมาดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคแทรกซ้อนที่ตามมากับโรคนี้ อย่างจริงจัง
ความคืบหน้าของการรณรงค์ นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประเมินการตรวจวัดความดันโลหิตในวันนี้( 8 กันยายน 2550 ) ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ผลสรุปรวม 7 วัน เมื่อเวลา 12.00 น. พบว่าประสบผลสำเร็จสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยังไม่มีประเทศใดในโลกทำได้เหมือนไทย เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยตรวจทั้งหมด 20,717,187 คน ครอบคลุมคนอายุ 35 ปีขี้นไปทั่วประเทศร้อยละ 75 พบผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่าปกติคือตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ทั้งหมด 2,370,897 คน คิดเป็นร้อยละ 11 โดยพบในชายร้อยละ 11 ผู้หญิงพบร้อยละ 12 หรือพูดได้ว่าในคนไทยอายุ 35 ปีขึ้นไปทุกๆ 10 คน จะมีคนเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ 1 คน จังหวัดที่พบคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 27 รองลงมาได้แก่ เชียงใหม่ ร้อยละ 25 พระนครศรีอยุธยาร้อยละ 22 สมุทรสงครามร้อยละ 20.31 และนครสวรรค์ร้อยละ 20.02
ในการรณรงค์ครั้งนี้ ยังพบคนอายุ 35 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักเกินมาตรฐานร้อยละ 27 โดยตรวจทั้งหมด 5,555,064 คน พบน้ำหนักเกินมาตรฐาน 1,485,126 คน แบ่งเป็น คนอ้วน 356,480 คน และคนท้วมเสี่ยงอ้วน 1,128,646 คน พบในผู้หญิงร้อยละ 29 ผู้ชายอ้วนร้อยละ24 ทั้งความอ้วนและความท้วมเป็นต้นเหตุสำคัญที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็งได้เช่นกัน
นายแพทย์วัลลภกล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ที่ตรวจพบจากการรณรงค์ครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะติดตามดูแลต่อเนื่อง โดยนัดให้ไปตรวจที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อดูแลพฤติกรรมสุขภาพทั้งเรื่อง การกินอาหาร การออกกำลังกาย การคลายเครียด และตรวจเช็คโรคเบาหวาน ภาวะโรคอ้วน ตรวจระดับไขมันในเลือดต่อไป เพราะหากมีปัจจัยเหล่านี้ด้วย โอกาสจะเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันจะมีสูงขึ้น โดยจะให้บริการในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการตรวจวัดความดันโลหิตและการประเมินความอ้วนครั้งนี้ จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายเสี่ยงน้อยกว่าผู้หญิง ซึ่งที่ผ่านมาผู้หญิงอายุยืนกว่าชาย หญิงเฉลี่ย 72 ปี แต่ชายเพียง 68 ปี เนื่องจากผู้ชายทำร้ายตนเองจากการกินเหล้า สูบบุหรี่ประมาณร้อยละ 17 อายุจึงสั้นกว่าผู้หญิง ดังนั้นประชาชนที่ได้รับการตรวจวัดความดันโลหิต และรู้ตัวว่าปกติหรือผิดปกติก็ตาม จะต้องดูแลสุขภาพ ควบคุมน้ำหนักตัว ด้วยหลักง่ายๆ 3 อย่าง คือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละอย่างน้อย 30 นาที ควบคุมการกินอาหาร ไม่กินอาหารที่รสเค็มเกินไป มันเกินไป หรือหวานเกินไป และควรเพิ่มกินผัก ผลไม้ที่มีรสหวานไม่มาก ให้มากขึ้นอย่างน้อยควรให้ได้วันละครึ่งกิโลกรัม นายแพทย์วัลลภกล่าว
ทางด้านนายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกล่าวว่า จากการประเมินผลโครงการรณรงค์ตรวจวัดความดันโลหิตครั้งนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจมาก อยากให้จัดรณรงค์เช่นนี้ทุกปี เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ ทำให้เกิดความตระหนักต่อการดูแลสุขภาพตนเอง และต้องการให้ขยายการจัดงานในโรคอื่นๆด้วย เช่นโรคเบาหวาน ซึ่งกรมสนับสนุนฯจะรับไว้พิจารณาและวางแผนดำเนินการต่อไป ซึ่งในปลายปีนี้ จะอบรม อสม.ให้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการดูแลโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งโรคเรื้อรังอื่นๆ เพื่อเป็นแกนนำรณรงค์ในหมู่บ้านต่างๆเพิ่มอีก 3 แสนคน หลังจากที่อบรมรมรุ่นแรกไปแล้วเกือบ 3 แสนคน
************************************** 8 กันยายน 2550
View 17
08/09/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ