กระทรวงสาธารณสุข ประชุมชี้แจงแนวทางและแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติระดับจังหวัด/กทม.ตามที่พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558  กำชับช่วงฤดูฝน ป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ให้ความสำคัญและจัดทำแผนปฏิบัติการให้ชัดเจน

 

วันนี้ (15 กรกฎาคม 2559)ที่โรงแรมริชมอนด์จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบนโยบาย ระบบ แนวทางปฏิบัติ และแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ.2559-2561 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ.2558 แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 200 คน

 

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559 ในหมวด 2 ของพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มาตรา 14 กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ กำหนดนโยบาย วางระบบ และแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อ โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย เชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด  ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายใหม่เกิดขึ้น ต้องปรับมาตรการ กลไกให้สอดคล้องเพื่อการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีการทบทวนปรับปรุงอนุบัญญัติต่างๆ และทยอยประกาศออกมาใหม่ พร้อมได้เร่งทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

สำหรับภารกิจสำหรับปี 2559 แนวทางปฏิบัติที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ 1.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร 2.แต่งตั้งคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออก ในกรณีที่จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ให้มีด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 3.ตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ตามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2559 และ4.จัดทำแผนปฏิบัติการ เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังหรือระบาด ในเขตพื้นที่ ให้สอดคล้องแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือระบาด และพิจารณาตามความสำคัญของปัญหาในพื้นที่   ซึ่งจะทำให้เกิดการกลไกการดำเนินงานระดับจังหวัด ระดับเขต เชื่อมโยงสู่ระดับชาติให้มีความเข้มแข็งเพียงพอ

 

นอกจากนี้ จะต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของ หน่วยงานเครือข่าย และเครือข่ายภาคประชาชนให้มากขึ้ สื่อสารความเสี่ยง สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน สถานการณ์ ควบคุมและป้องกันหลักปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวข้องกับโรคติดต่อ สร้างความร่วมมือในชุมชน  โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน จะพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อที่นำโดยยุงลาย เช่นโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เน้นย้ำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญและจัดทำแผนปฏิบัติการให้ชัดเจน โดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติและกรมควบคุมโรค จะสนับสนุนด้านวิชาการ รวมทั้งติดตามประเมินผล เพื่อนำเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติต่อไป

 

************************************** 15 กรกฎาคม 2559



   
   


View 29    15/07/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ