กระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 50 แห่ง  เตรียมแผนป้องกันน้ำท่วม สำรอง ยา เวชภัณฑ์ ออกซิเจน  เตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องปั่นไฟ  พร้อมแผนการจัดบริการผู้ป่วย การตรวจรักษานอกโรงพยาบาล ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน  พร้อมสำรวจผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด วางแผนเยี่ยมบ้าน เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง  ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรขอความช่วยเหลือ 1669   ตลอด 24 ชั่วโมง

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการรับมือกับภาวะฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 10-11 กรกฎาคมนี้ ว่า ได้กำชับให้โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ที่ตั้งอยู่ในที่ลุ่มและริมแม่น้ำในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 50 แห่ง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดำเนินการดังนี้ 1.เตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาล ทำความสะอาดรางน้ำ ท่อระบายน้ำ จัดเตรียมกระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ สำรองน้ำมัน เป็นต้น 2.เตรียมขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา-เวชภัณฑ์ไว้ที่ปลอดภัย 3.เตรียมแผนการจัดบริการประชาชนในภาวะน้ำท่วม เช่น การขนย้ายผู้ป่วยในโรงพยาบาล การส่งต่อผู้ป่วย สำรวจเส้นทางให้พร้อม รวมทั้งการจัดบริการตรวจรักษานอกโรงพยาบาล กรณีน้ำท่วมโรงพยาบาลหรือท่วมเส้นทางประชาชนเดินทางเข้าออกลำบาก ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน   4.สำรองยา-เวชภัณฑ์  ออกซิเจน อาหารและน้ำสำหรับผู้ป่วย สำรวจระบบสำรองไฟฟ้า ให้พร้อมใช้งานหากไฟดับ  5.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/โรงพยาบาลทุกแห่ง สำรวจกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ  หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดในความรับผิดชอบ  โดยพิจารณาจัดยาที่ต้องกินหรือใช้เป็นประจำทุกวัน ให้มียากินหรือใช้ตลอดช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมและไม่สามารถเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลได้ รวมทั้งพิจารณาจัดทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พร้อมออกไปดูแลถึงบ้าน เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง 
 
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าโรงพยาบาลที่เคยมีปัญหาน้ำท่วม ได้มีการเตรียมความพร้อมแล้ว ทั้งการเตรียมกระสอบทราย  เตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องปั่นไฟ  สำรอง ยา เวชภัณฑ์ ออกซิเจน อาหารและน้ำสำหรับผู้ป่วย 
 
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้เตรียมขนย้ายข้าวของอุปกรณ์ไฟฟ้าไว้ที่สูง ยกระดับปลั๊กไฟฟ้าสูงจากพื้น เตรียมน้ำดื่ม อาหาร ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาลดไข้ ยาใส่แผล ผงน้ำตาลเกลือแร่ และยาประจำตัวของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อุปกรณ์สื่อสาร ไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ ถุงใส่ขยะ ที่สำคัญในการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม ขอความร่วมมือประชาชนอย่าทิ้งขยะ ทิ้งเศษอาหาร รวมทั้งถ่ายอุจจาระลงในน้ำเพราะจะทำให้น้ำสกปรก เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค  และภายหลังจากเดินลุยน้ำขอให้รีบล้างเท้า อาบน้ำให้สะอาดทุกครั้ง   สวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาดบรรจุขวดหรือน้ำที่ต้มสุกแล้ว ใช้ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่าย  และดูแลบ้านเรือนให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษ เช่น ตะขาบ งู เข้าไปอาศัย หากเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือหากเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ที่หมายเลข 1669   ตลอด 24 ชั่วโมง
      ***************************** 10 กรกฎาคม 2559


   
   


View 25    10/07/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ