กระทรวงสาธารณสุขจัดงานวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย รณรงค์คัดแยกขยะที่ต้นทาง ช่วยลดโรคร้าย  คลายโลกร้อนร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการกำจัดขยะตกค้างในพื้นที่ โดยการลด คัดแยกขยะมูลฝอย กำจัดอย่างถูกหลักวิชาการ ตลอดจนรวมกลุ่มจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยและส่งเสริมให้เอกชนลงทุนในการจัดการขยะ

 วันนี้ (4 กรกฎาคม 2559) ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย 4 กรกฎาคม 2559 พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “คัดแยกขยะที่ต้นทาง ลดโรคร้าย คลายโลกร้อน”และมอบรางวัล “Princess Environmental Health Award 2016” แก่บุคคลดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม 1 ท่าน นายพิษณุ แสนประเสริฐ 
     ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร กล่าวด้วยความสำนึกในพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ว่าทรงเป็นผู้นำที่เข้มแข็งมีปณิธานแน่วแน่มั่นคงต่อการดำเนินงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการดูแลสุขภาพประชาชนที่มีผลจากสิ่งแวดล้อม จึงขอพระราชทานพระอนุญาต กำหนดให้วันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย” เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการอนามัยสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งในปีนี้รณรงค์เรื่อง “คัดแยกขยะที่ต้นทาง ลดโรคร้าย คลายโลกร้อน”
     จากสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2557 โดย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบ ขยะชุมชนเกิดขึ้น 26.19 ล้านตันต่อปี หรือ 71,778 ตันต่อวัน มีการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์เพียง 4.82 ล้านตันต่อปี หรือร้อยละ 18.32 ขยะที่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง 7.88 ล้านตันต่อปี หรือร้อยละ 31 และมีขยะที่ยังไม่ได้รับการจัดการ 13.49 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีขยะตกค้างสะสมทั่วประเทศสูงถึง 14.8 ล้านตันต่อปี และจากการที่ไฟไหม้บ่อขยะยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยพบว่าช่วงที่เกิดไฟไหม้ชุมชนที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบบ่อขยะ มีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐาน 20 – 30 เท่า และพบฝุ่นละอองขนาดเล็กปริมาณมาก 350 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 30 เท่า และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์และแมลงพาหะนำโรค นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพราะการจัดการขยะทุกขั้นตอนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น
     กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎระเบียบการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และ ปลายทาง ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปออกข้อบัญญัติท้องถิ่น จัดการขยะมูลฝอย เร่งรัดการกำจัดขยะตกค้างในพื้นที่ให้หมดไป โดยการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย ส่งกำจัดอย่างถูกหลักวิชาการ  อีกทั้งรวมกลุ่มพื้นที่และจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม โดยใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสาน และส่งเสริมให้เอกชนลงทุนในการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งได้ดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559-2564) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม                               ด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยขอเชิญชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน ร่วมกันสร้างจิตสำนึกปลูกฝังเยาวชน และร่วมมือร่วมใจลดปริมาณขยะ ช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ทั้งนี้ได้กำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ส่งเสริมความเข้มแข็งระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชนและเมืองอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ชุมชนมีเครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดเมือง “เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้” มีการจัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งให้บริการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและได้รับบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ปลอดภัย และมีส่วนร่วมในการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม

*******************************     4 กรกฎาคม 2559


   
   


View 17    04/07/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ