กระทรวงสาธารณสุข จัดทำยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ รองรับแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย นำเทคโลยีสารสนเทศ เพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ทุกที่และเท่าเทียมกัน มีคุณภาพชีวิตที่ดี


            วันนี้(27 มิถุนายน 2559) ที่โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะกรุงเทพฯ นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ เรื่องพลวัตแห่งโลกสาธารณสุขด้วยการใช้เทคโนโลยีในงานอบรมสัมมนาทางวิชาการและแสดงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่องานสาธารณสุขและการแพทย์(Healthcare Technology Summit 2016) ว่าในยุคที่มีการปรับเปลี่ยนจากยุค Analog เป็น Digital ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจะรวดเร็วมากขึ้น เช่น โรคที่มาใหม่โรคซิกา การให้ข้อมูลที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเข้าถึงปัญหาให้เร็วและชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน. เพื่อให้ประเทศไทยมี eHealth ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2020 และมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี


           กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพหรือ eHealth รองรับรัฐบาลดิจิทัล ในแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ระยะ 3 ปี(พ.ศ.2559-2561) โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงาน 6 ข้อ ดังนี้ 1.จัดตั้งองค์กรกลางความร่วมมือบริหารจัดการ eHealth 2.พัฒนาและปรับปรุงสถาปัตยกรรมโครงสร้างพื้นฐาน 3.สร้างมาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพ เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลมีประสิทธิภาพ 4.ขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อระบบบริการสุขภาพ รวมทั้งมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา 5.ผลักดันการใช้กฎหมาย ระเบียบ วิธีปฎิบัติและมาตรฐานที่เหมาะสม และ6.พัฒนาทุนมนุษย์ด้าน eHealth 


            จัดการความรู้ด้านการแพทย์และสุขภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น บันทึกและส่งต่อข้อมูลการรักษาได้อย่างมีคุณภาพ  สามารถดึงข้อมูลจากหลายแหล่งได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ช่วยให้แพทย์มีข้อมูลมากยิ่งขึ้น ทำให้การรักษามีความเหมาะสม ผู้ป่วยสามารถได้รับการดูแลรักษาจากระยะไกล สามารถได้รับคำปรึกษาผ่าน VDO และติดตามอาการใน 24 ชั่วโมง ถ่ายทอดข้อมูลผ่าน Wireless กรณีฉุกเฉินสามารถแจ้งให้เพื่อนบ้านทราบหรือโทรติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือจากบริการฉุกเฉินของโรงพยาบาล ที่สำคัญคือ ประชาชนสามารถจัดการสุขภาพของตัวเองด้วยข้อมูลสุขภาพที่เชื่อถือและเข้าถึงคำแนะนำได้


            สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการมีดังนี้ 1.บูรณาการข้อมูลประชาชนให้เป็นภาพเดียวโดยเชื่อมโยงข้อมูลกับเลขประจำตัว 13 หลักของกระทรวงมหาดไทยกับข้อมูลการรับบริการของผู้ป่วย สามารถติดตามประวัติของผู้ป่วยได้ 2.ให้บริการภาครัฐแบบเฉพาะเจาะจงรายบุคคล ครบวงจร ณ จุดเดียว ของสนง.รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์  3.การให้บริการเสร็จสิ้น ณ จุดให้บริการ มีบางส่วนที่ไม่สามารถให้บริการจบลงครั้งเดียวได้เช่น การขอใบอนุญาต   ส่วนช่องทางการร้องเรียนได้พัฒนา Mobile application ที่ติดต่อกับผู้ขอรับบริการได้ เช่น MOPH App, ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน, GIS Health ค้นหา รพ.กดดูรู้โรค 4.นำข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลสุขภาพ (Health Data Center ) มาใช้ในการบริหารจัดการการให้บริการเช่นบริการวัคซีน ดูแลติดตามผู้ป่วยโรคเอดส์ ติดตามการพัฒนาเด็กและจัดสรรงบประมาณประจำปี 2561 5.ใช้ระบบ Private Cloud เป็น Server เก็บข้อมูลการให้บริการ และ 6.พัฒนาและตั้งคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล


           ทั้งนี้ ได้มอบให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำนโยบาย eHealth จาก WHO มาปรับใช้และเข้าได้กับนโยบายของรัฐบาลดิจิทัลอย่างสมบูรณ์  มุ่งเน้นโดยตรงต่อประชาชน เพื่อประโยชน์ประชาชน    


                    ******************************27 มิถุนายน 2559

 

 

 

 

 

*****************************



   
   


View 13    27/06/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ