รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนประเทศไทยรับมอบเกียรติบัตรยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก สำเร็จตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลกคือต่ำกว่าร้อยละ 2 ซึ่งเป็นประเทศแรกของเอเชีย และเป็นประเทศที่ 2 ของโลก
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เป็นตัวแทนประเทศไทย เดินทางไปร่วมการประชุมระดับสูงของสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยโรคเอดส์และเอชไอวี (United Nations General Assembly High-level Meeting on HIV/AIDS) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับเกียรติบัตรจากองค์การอนามัยโลก รับรองว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกตามเป้าหมายโลกคือมีอัตราต่ำกว่าร้อยละ 2 ซึ่งเป็นประเทศแรกของเอเชีย และเป็นประเทศที่ 2 ของโลก หลังจากที่ประเทศคิวบาได้รับรางวัลนี้เมื่อปีที่ผ่านมา
ข้อมูลในปี 2558 พบว่าเด็กติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลงจาก 12.2 รายต่อแสนการเกิดมีชีพในปี 2557 เป็น 11.5 รายต่อแสนการเกิดมีชีพในปี 2558 และการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากร้อยละ 10.3 ในปี 2543-2546 เหลือร้อยละ 2.0 ในปี 2557 และร้อยละ 1.9 ในปี 2558 รวมทั้งอัตราการติดเชื้อซิฟิลิสแต่กำเนิดลดลงจาก 11.2 รายต่อแสนการเกิดมีชีพในปี 2557 เหลือ 10.9 รายต่อแสนการเกิดมีชีพในปี 2558 โดยไทยได้ทำหนังสือแสดงเจตจำนงเพื่อขอรับการประเมินรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกจากองค์การอนามัยโลก ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2558 จนได้รับการรับรองจากจากทีมผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศในเดือนเมษายน พ.ศ.2559
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวต่อว่า ความสำเร็จของประเทศไทยในครั้งนี้ มาจากความมุ่งมั่นและนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล และความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชน และภาคประชาสังคม ที่ทำงานร่วมกันกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยได้พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมถึงระดับชุมชน ความเข้มแข็งของการดำเนินงานอนามัยแม่และเด็ก ซึ่งหญิงที่มาฝากครรภ์ทุกคนจะได้รับการเจาะเลือดหาเชื้อเอชไอวี และได้รับยาต้านไวรัสทันทีตั้งแต่ทราบผลว่าติดเชื้อเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปสู่ทารก ซึ่งเมื่อได้รับการรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อ เอชไอวี และเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกจากองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้แล้ว ประเทศไทย จะต้องรักษามาตรฐานการทำงานการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก และขยายการยุติเอดส์ไปสู่กลุ่มประชากรเป้าหมายอื่นๆ มีการวางเป้าหมาย และเพิ่มความเข้มแข็งของการดำเนินงานในระดับจังหวัดถึงระดับชุมชน การเสริมพลังให้กับผู้ติดเชื้อ เอชไอวี และเชื้อซิฟิลิส ในการเข้าถึงการรักษา และการติดตามในชุมชน รวมถึงสนับสนุนให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลด้วย
********************************* 8 มิถุนายน 2559
View 26
08/06/2559
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ