“สมศักดิ์” ประชุมผู้บริหาร สธ.นัดแรกปี 68 จัดเต็มของขวัญวันเด็ก-วันผู้สูงอายุ เพิ่มเข้าถึงการรักษาขั้นสูง ปลื้มมีคนนับคาร์บแล้ว 11.8 ล้านคน เดินหน้าให้ได้ 50 ล้านคน ภายในปี 2568
- สำนักสารนิเทศ
- 329 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เร่งปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ ตั้งเป้าให้คนไทย 1 ล้านครอบครัว มีแพทย์เวชศาสตร์ประจำครอบครัวดูแลภายในปี 2560 “บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี” เน้นดูแบบองค์รวมทั้งส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู โดยเตรียมทีมสหวิชาชีพ 3 ทีมต่อประชาชน 3 หมื่นคน ให้ประชาชนเจ็บป่วยเล็กน้อย เข้าถึงบริการสะดวก ลดความแออัด พร้อมขยายทั่วประเทศภายในปี 2565
วันนี้ (3 มิถุนายน 2559) ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาลบุรีรัมย์ และให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ผู้ป่วยเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขค่อนข้างมาก ข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ปี 2559 เพียง 6 เดือน มีผู้ป่วยเข้ารับบริการโรงพยาบาลทุกระดับกว่า 400 ล้านครั้ง เป็นผู้ป่วยในอีก 1.75 ล้านคน ทำให้แพทย์มีเวลาจำกัดในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยแบบองค์รวม ประกอบกับความเป็นสังคมเมือง การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โรคเรื้อรังจากพฤติกรรมสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ในเขตเมืองที่ต้องให้บริการครอบคลุม ตั้งแต่ปฐมภูมิไปจนถึงตติยภูมิ แต่ละแห่งมีผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละประมาณ 2-3,000 คน มีผู้ป่วยโรคพื้นฐานเช่น ไข้หวัด ผื่นคัน ตาแดง ฉีดวัคซีน ทำแผล ไปถึงโรคยุ่งยากซับซ้อนที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญ เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง ผ่าตัด ฉายรังสี เป็นต้น
ด้านนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งรัดปฏิรูประบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะบริการปฐมภูมิ ได้จัดระบบดูแลในลักษณะกลุ่มบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care Cluster) ดูแลแบบองค์รวม ทั้งด้านการรักษาพยาบาล และส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสุขภาพบุคคลและครอบครัว ให้บริการสุขภาพพื้นฐานปกติที่บุคลากรสาธารณสุขให้บริการประชาชนเป็นประจำ ทั้งก่อนป่วย ป่วยเล็กน้อย ปัญหาที่ซับซ้อน จนถึงระยะสุดท้าย รวมทั้งเป็นผู้ประสาน ส่งต่อ เชื่อมโยงบริการให้แก่แพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขเฉพาะทางอื่นๆ เมื่อจำเป็น เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพแต่แรกทุกเรื่อง ต่อเนื่อง เบ็ดเสร็จ ผสมผสาน ลดการป่วย ลดการรอคอย ลดความซ้ำซ้อน ลดรายจ่าย เป็นต้น
โดยในเขตเมืองให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป จัดหน่วยบริการปฐมภูมิ ดูแลประชาชนด้วยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหวิชาชีพ กำหนดพื้นที่และประชาชนในความรับผิดชอบชัดเจน โดยดูแลประชากรประมาณ 30,000 คนต่อ 3 ทีม ส่วนเขตชนบทให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่อยู่ใกล้กันรวมกันเป็นกลุ่ม ดูแลประชาชน 30,000 คนต่อ 3 ทีมเช่นกัน ใช้หลักการเวชศาสตร์ครอบครัว ดูแลความเจ็บป่วย(Illness) มากกว่าดูแลเฉพาะโรค (Disease) ทุกมิติสุขภาพ ด้วยบริการที่ต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย เน้นที่ดูแลเป็น “คน” ไม่ใช่ทำเป็นกิจกรรมหรืองาน ตั้งเป้าให้คนไทย 1 ล้านครอบครัว มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแล ภายในปี 2560 ด้วย “บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี”
“ขณะนี้มีโรงพยาบาลในเขตเมือง 48 แห่ง มีหน่วยบริการปฐมภูมิพร้อมดูแลประชาชนในความรับผิดชอบ มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 292 คนในระบบ และจะผลิตเติมเต็มในทุกพื้นที่ ต่อไปคนไทยทุกคนจะมีหมอประจำตัว ให้ความรู้เรื่องโรค แนะนำการปฏิบัติเพื่อไม่ให้ป่วยหรือเมื่อป่วย ผู้ป่วยต้องปรึกษาหรือไปพบก่อนไปโรงพยาบาลหรือส่งต่อไปที่อื่น เป็นการปรับสมดุลแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวกับแพทย์เฉพาะทาง ช่วยลดผู้ป่วยนอกไปที่โรงพยาบาลใหญ่ เพิ่มการเข้าถึงบริการ ดูแลต่อเนื่อง พัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อลดค่าใช้จ่ายสุขภาพในระยะยาว” นพ.โสภณกล่าว
*******3 มิถุนายน 2559