ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมหารือเรื่อง การสาธารณสุขในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 : บทบาทของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (Health in the 2030 Agenda for Sustainable Development : intersectoral action) ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 69 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ว่า เนื่องจากประเด็นสุขภาพมีความเชื่อมโยงในหลายมิติ ดังนั้นการกำหนดนโยบายจึงต้องบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการกำหนดและผลักดันนโยบายสุขภาพ อาทิ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งนอกจากการตรวจคัดกรองแล้ว ต้องมีการควบคุมป้องกันโรคและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งการมีนโยบายสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี ซึ่งบางนโยบายอาจเกี่ยวโยงและกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของเอกชน ดังนั้นภาคธุรกิจจะต้องเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น โดยตัวอย่างของประเทศไทย ได้จัดตั้งคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 กรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคการศึกษาและวิชาชีพ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกัน ขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ โดยแต่ละภาคส่วนต้องลดความเห็นแก่ตัว เพื่อให้เกิดความไว้ใจ เชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการทำงานร่วมกัน
 

                       ส่วนการประชุมกลุ่มรัฐมนตรีสาธารณสุข Foreign Policy and Global Health Initiative หรือ FPGH ซึ่งเป็นความร่วมมือของประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการทูตเพื่อสาธารณสุข 7 ประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์ ฝรั่งเศส บราซิล อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ เซเนกัล และไทย โดยไทยได้เสนอให้จัดการประชุม FPGH ก่อนหรือระหว่างการประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ณ กรุงเทพมหานคร และได้หารือเรื่องการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุข โดยทางออกที่ดีที่สุดคือการสร้างเสริมศักยภาพของบุคลากรที่มีอยู่ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน การได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมและการพัฒนาจิตสำนึกที่เป็นจิตสาธารณะ มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพอย่างเหมาะสม รวมทั้งการส่งเสริมงานป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพในเชิงรุกเพื่อลดภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ยังได้เชิญรัฐมนตรีสาธารณสุขกลุ่ม FPGH ร่วมการประชุมคู่ขนานเรื่อง “Towards Achieving the Physical Activity Target 2015 (10x25).  Are We Walking the Talk” ซึ่งประเทศไทยร่วมกับฟินแลนด์ อิหร่าน ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา ร่วมเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้เกิดการจัดตั้งเครือข่ายการออกกำลังกายในทุกระดับ (Physical Activity Network) รวมทั้งการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ และการติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างจริงจัง
 

 
                           นอกจากนี้ยังได้ประชุมทวิภาคีกับนางอีดิท ชิพเพอร์ส (Mrs. Edith Schippers) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สังคม และกีฬาแห่งเนเธอร์แลนด์ ในประเด็นปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance :AMR) และได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม High Level Meeting of the Global Health Security Agenda (GHSA) ซึ่งเนเธอร์แลนด์จะเป็นเจ้าภาพจัดระหว่างวันที่ 12-14 ตุลาคม 2559 รวมทั้งได้หารือทวิภาคีกับนายแพทย์ทีรอส อะดานอม (Dr. Tedros Adhanom) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นผู้สมัครลงชิงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกในสมัยต่อไป  
 
********************************** 25 พฤษภาคม 2559

 



   
   


View 13    25/05/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ