รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยความก้าวหน้าการสร้างเครือข่ายบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ครอบคลุมถึงระดับตำบลแล้ว 3,386 หน่วย จะขยายครบตำบลทั่วประเทศ ในปี 2554 ที่สกลนครเป็นจังหวัดแรกในประเทศ ที่พัฒนาอาสาสมัครมือถือแจ้งเหตุฉุกเฉินประจำหมู่บ้าน ช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันใจ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมระบบการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลสกลนคร เมื่อเช้าวันนี้ (1 กันยายน 2550) ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังเสนอร่างพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อใช้สำหรับการให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยอย่างกระทันหัน รวมทั้งบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท โดยบุคลากรที่มีความรู้ นำส่งจากจากจุดเกิดเหตุจนถึงโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด โรงพยาบาลต่างๆ ไม่มีการปฏิเสธรับคนไข้จากข้ออ้างเตียงเต็มอีกต่อไป คาดว่าจะออกใช้ทันในปลายปีนี้แน่นอน นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ในการพัฒนาเครือข่ายระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินนั้น จะขยายบริการให้ครอบคลุมถึงระดับตำบลทั่วประเทศภายในปี 2554 ซึ่งการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินดังกล่าวให้ดีที่สุดนั้น จะต้องบูรณาการความร่วมมือทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีศักยภาพทั้งกำลังคนและงบประมาณ จัดเป็นสวัสดิการด้านความปลอดภัยต่อชีวิตของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น มาร่วมบริหารจัดการตั้งแต่การจัดหาสถานที่ตั้งศูนย์ รถพยาบาล และคัดเลือกอาสาสมัครเข้ารับการอบรมเป็นอาสาสมัครกู้ชีพ ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้หมายเลข 1669 แจ้งเหตุฉุกเฉินฟรีเหมือนกันทุกหน่วยทั่วประเทศ นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานขณะนี้ ทั่วประเทศมีศูนย์กู้ชีพประจำตำบลแล้ว 3,386 หน่วย มีอาสาสมัครกู้ชีพระดับตำบล 80,045 คน ในภาพรวมการปฏิบัติการกู้ชีพทั้งในเขตเมืองและตำบล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 สิงหาคม 2550 หน่วยกู้ชีพออกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งหมด 280,323 ราย โดยแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือทางหมายเลข 1669 จำนวน 111,728 ราย คิดเป็นร้อยละ 40 ที่เหลือเป็นการแจ้งเหตุผ่านช่องทางอื่น เช่น เครือข่ายตำรวจ อาสาสมัคร หน่วยกู้ภัย วิทยุสื่อสารประชาชน เป็นต้น ด้านนายแพทย์นิทัศน์ รายวา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดสกลนคร มี ความก้าวหน้าในการพัฒนาเครือข่ายบริการการแพทย์ฉุกเฉินระดับตำบลอย่างมาก ได้อบรมอาสาสมัครกู้ชีพประจำหน่วยกู้ชีพระดับตำบลของอบต. แล้วเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้มีศูนย์กู้ชีพระดับตำบลเปิดให้บริการครอบคลุมแล้วประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ บางแห่งได้ขยายศูนย์กู้ชีพลงไปถึงระดับหมู่บ้านแล้วด้วย ทำให้ประชาชนได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินทั่วถึงมากขึ้น นอกจากนี้ จังหวัดสกลนคร ยังเป็นจังหวัดแรกที่นำร่องสร้างอาสาสมัครแจ้งเหตุประจำหมู่บ้าน ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ใน 4 อำเภอ ได้แก่ พรรณานิคม เต่างอย บ้านม่วง และโคกศรีสุพรรณ ทำหน้าที่แจ้งเหตุขอความช่วยเหลือกรณีเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน อุบัติเหตุและโรคระบาดต่างๆ ในกลุ่มบ้านที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งอาสาสมัครแจ้งเหตุเหล่านี้ จะคัดเลือกจากอาสาสมัครสาธารณสุข และกลุ่มผู้นำชุมชน มาอบรมความรู้การจำแนกประเภทการเจ็บป่วย เพื่อให้สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ช่วยเสริมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะดำเนินการครอบคลุมทั้งจังหวัดภายในปี 2551 และขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป ****************************** 1 กันยายน 2550


   
   


View 14    01/09/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ