กระทรวงสาธารณสุข เผยอุบัติเหตุฉลองสงกรานต์ปี 2559  ช่วง 2 วัน พบรุนแรงกว่าปีที่แล้ว  โดยมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุร้อยละ 64  ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด สาเหตุจากเมาแล้วขับ และขับเร็ว รถมอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุสูงสุดร้อยละ 80 มีการเรียกใช้สายด่วนกู้ชีพ 1669 ร้อยละ 39  เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเรียกใช้บริการ ชี้หากผู้บาดเจ็บได้รับการดูแลและนำส่งโดยทีมแพทย์มืออาชีพ  จะช่วยลดการเสียชีวิตของผู้บาดเจ็บได้มากกว่า  ส่วนผลการตรวจเหล้า  ตรวจผู้ฝ่าฝืนทั้งหมด 370 ราย  ทำผิดและดำเนินคดี 95 ราย

 วันนี้ (13 เมษายน 2559)ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว ผลการปฏิบัติงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2559  ในรอบ 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-12 เมษายน 2559 ว่า จากการประเมินสถานการณ์ของอุบัติเหตุจราจรพบว่า ปีนี้มีความรุนแรงมาก พบว่ามีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุมากถึงร้อยละ 64 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด สาเหตุจากเมาแล้วขับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13  และขับรถเร็วเกินกำหนดเพิ่มขึ้นร้อยละ  24 มีผู้บาดเจ็บ ร้อยละ 15 ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล และมีอีกร้อยละ 10 บาดเจ็บรุนแรงต้องส่งไปรักษาต่อในโรงพยาบาลที่ศักยภาพสูงกว่า  ประเภทรถที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือจักรยานยนต์ร้อยละ 80 รองลงมารถปิคอัพ  ตลอด วันที่ผ่านมา ศูนย์สั่งการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทั่วประเทศ ของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับแจ้งเหตุจากประชาชนทางสายด่วนแพทย์ฉุกเฉิน 1669  คิดเป็นร้อยละ 39 จากจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาล โดยผู้นำส่งโรงพยาบาลเป็นหน่วยกู้ชีพ มูลนิธิ/อาสาสมัคร มากที่สุดร้อยละ 67

ในวันนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศเร่งดำเนินการ 3 เรื่องเพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต จากจราจร ได้แก่ 1.เร่งรัดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน แจ้งเหตุเข้ามาทางสายด่วน 1669 ให้มากขึ้น  ได้เตรียมทีมไว้มากกว่า 14,000 ทีมทั่วประเทศ พร้อมเจ้าหน้าที่อีกกว่า 160,000 คนพร้อมให้ความช่วยเหลือ 2.ให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัด ผู้ใดฝ่าฝืนให้ดำเนินคดีทันที 3.การตั้งจุดสกัด ด่านชุมชน ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไปเพราะช่วยลดอุบัติเหตุในชุมชนลงได้

            สำหรับผลการตรวจบังคับใช้กฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในช่วงวันที่ 10-12 เมษายน 2559  ตรวจรวมทั้งหมด 370 ราย ที่ ตราด แพร่ พะเยา อุบลราชธานี ศีรษะเกษ สุราษฎร์ธานี  พบผู้กระทำผิด และดำเนินคดี 95 ราย ความผิดอันดับ 1 ได้แก่ การโฆษณาสื่อสารการตลาด รวม 31  ราย รองลงมาคือขายและดื่มนอกเวลา 29 ราย การลดแลกแจกแถม 18 ราย ขายในที่ห้ามขายรวม 7 ราย  ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ราย และดื่มในสถานที่ต้องห้าม เช่น บนถนน สวนสาธารณะ 4 ราย  ได้กำชับทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ ประสานทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจและสรรพสามิต ออกตรวจเตือนประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนอย่างต่อเนื่อง และหากพบกระทำผิดจะดำเนินคดีทุกรายทันทีเช่นกัน  

โดยโทษความผิดขายเหล้าดังนี้ 1.ขายในสถานที่ห้ามขาย มีโทษจำคุก 6  เดือน ปรับ 10,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.การโฆษณาเหล้า ลดแลกแจกแถม มีโทษจำคุก 1  ปี ปรับไม่เกิน 500,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ขายโดยไม่มีใบอนุญาต  มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท 4.ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุก 1  ปี ปรับ 20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 5.สำหรับผู้ขายนอกเวลามีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 6.ดื่มเหล้าบนรถ  มีโทษจำคุก เดือน ปรับไม่เกิน 10,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ทั้งนี้ สถิติอุบัติเหตุในรอบ 24 ชั่วโมงของวันที่ 12 เมษายน 2559 เกิดอุบัติเหตุ 520 ครั้ง  ผู้บาดเจ็บ 550 คน เสียชีวิต 64 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ เมาสุรา ร้อยละ 36 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 33 ยอดรวม 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-12 เมษายน 2559 มีอุบัติเหตุสะสม 907 ครั้ง บาดเจ็บสะสม 981 คน เสียชีวิต 116 ราย จังหวัดที่บาดเจ็บสะสมสูงสุดคือเชียงใหม่ 48 ครั้ง เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือบุรีรัมย์  8 ราย

*********************13 เมษายน 2559



   
   


View 9    13/04/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ