สูติแพทย์โรงพยาบาลลำพูน ประสบความสำเร็จในการคิดค้นวิธีทำนายความเสี่ยงการผ่าตัดคลอดล่วงหน้าได้ โดยใช้อายุมารดา ความสูง ลำดับคลอด น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ และความสูงของยอดมดลูกมาเป็นฐานการประเมิน ผลการทำนายมีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 85 ช่วยแพทย์ประเมินและตัดสินใจทำคลอดได้ทันเวลา ลูกเกิดรอดแม่ปลอดภัย ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2550 ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยมในปี 2549 ให้แก่ นายแพทย์สุธิต คุณประดิษฐ์ กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลลำพูน และผู้ร่วมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ผลิตผลงานวิจัยโดดเด่นเรื่อง “การสร้างและตรวจสอบการใช้คะแนนเสี่ยง เพื่อทำนายการผ่าตัดคลอด จากภาวะไม่ได้สัดส่วนกันของเชิงกรานแม่กับศีรษะของลูก” หรือที่เรียกว่า ซีพีดี (CPD : Cephalo Pelvic Disproportion) ทำให้แม่และลูกได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย เป็นประโยชน์ในระบบการแพทย์และสาธารณสุขมาก เนื่องจากปัญหาเชิงกรานแคบเป็นภาวะฉุกเฉินและปัญหาแทรกซ้อนที่พบมากอันดับ 1 ในการทำผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง และขณะนี้ประเทศไทยมีหญิงตั้งครรภ์คลอดบุตรปีละประมาณ 8 แสนคน ซึ่งหากตรวจพบช้า จะส่งผลให้ทารกมีโอกาสเกิดภาวะขาดออกซิเจนในขณะคลอดและเสียชีวิตได้ ส่วนแม่อาจทำให้เจ็บครรภ์เนิ่นนานกวาปกติ อัตราการเจ็บป่วย การตายของมารดาสูงขึ้น และมารดาที่มีภาวะนี้ มีความวิตกกังวลมากเกี่ยวกับการคลอดของตนเอง ว่าจะสามารถคลอดได้เองทางช่องคลอดได้หรือไม่ นายแพทย์สุธิต กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าหญิงไทยส่วนใหญ่ ได้รับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในปี 2534 พบร้อยละ 15 และในปี 2544 เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 21 พบในโรงพยาบาลเอกชนมากถึงร้อยละ 54 รองลงมาคือ โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปร้อยละ 30 ในขณะที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้ว่า การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องของแต่ละประเทศ ไม่ควรเกินร้อยละ 15 การทำผ่าตัดมักมาจากสาเหตุหลักๆ ดังนี้คือ การคลอดยาก ที่พบมากคือ ซีพีดี พบได้ประมาณร้อยละ 8 รองลงมาคือ ทารกอยู่ในภาวะเครียดขณะเจ็บครรภ์คลอด เด็กอยู่ในท่าก้น และเคยผ่าตัดคลอดในครรภ์แรก นายแพทย์สุธิต กล่าวต่อไปว่า โรงพยาบาลลำพูนมีหญิงตั้งครรภ์มาคลอดปีละประมาณ 2,000 ราย พบว่าการทำผ่าตัดคลอดเพิ่มจากร้อยละ 14 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 22 ในปี 2545 สาเหตุหลักเกิดจากซีพีดี การผ่าตัดคลอดครั้งที่ 2 เด็กอยู่ในท่าก้น และทารกอยู่ในภาวะเครียดขณะเจ็บครรภ์คลอด โดยการวินิจฉัยภาวะซีพีดีที่ผ่านมามารดาต้องมีอาการเจ็บครรภ์คลอดสม่ำเสมอ ปากมดลูกต้องเปิดตั้งแต่ 4 เซนติเมตรขึ้นไป และมีการดำเนินการคลอดผิดปกติ ต้องคลอดเฉพาะสูติแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ จึงได้ริเริ่มสร้างระบบการประเมินความเสี่ยงการผ่าตัดคลอดอย่างง่ายขึ้น เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในห้องรอคลอดได้ โดยได้ศึกษาจากหญิงที่มาคลอดในโรงพยาบาลลำพูนโดยวิธีการผ่าตัดคลอดเนื่องจากภาวะซีพีดี 116 ราย และศึกษาเปรียบเทียบกับรายที่คลอดเองตามปกติ 307 ราย พบมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอด 5 ปัจจัย ได้แก่ อายุมารดา ความสูงของหญิงตั้งครรภ์ ลำดับคลอด น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ และความสูงของยอดมดลูก จากการศึกษาปัจจัยเสี่ยง 5 ประการที่ทำให้คลอดปกติไม่ได้ ได้แก่ อายุของมารดามากกว่า 34 ปี มารดาสูงน้อยกว่า 151 เซนติเมตร ตั้งครรภ์ครั้งแรก มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์มากกว่า 22 กิโลกรัม และระดับยอดมดลูกสูงกว่า 35 เซนติเมตร ซึ่งแสดงว่าศีรษะเด็กใหญ่ ไม่สามารถลงในช่องเชิงกรานของแม่เพื่อเข้าสู่การคลอดปกติได้ จากนั้นจึงได้จัดทำเป็นแบบประเมินอย่างง่ายตามรายปัจจัยเสี่ยง มีคะแนนรายข้อระหว่าง 0-3.5 และคะแนนความเสี่ยงรวมตั้งแต่ 0-14.5 คะแนน จากการทดสอบใช้เครื่องมือ สามารถทำนายความเสี่ยงการทำผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องได้ร้อยละ 88 หลังจากนั้นได้นำเครื่องทำนายมาตรวจสอบย้อนหลังในกลุ่มหญิงคลอดรายใหม่ ที่ผ่าตัดคลอดในโรงพยาบาลลำพูนจากภาวะซีพีดี 132 ราย และกลุ่มคลอดปกติ 394 ราย สามารถประเมินความแม่นยำการผ่าตัดคลอดได้ร้อยละ 85 นายแพทย์สุธิต กล่าวต่ออีกว่า ในการนำแบบประเมินไปใช้กับหญิงที่เริ่มเจ็บครรภ์คลอดเข้ามาในโรงพยาบาล สามารถใช้กับโรงพยาบาลทุกระดับ จะสามารถทำนายการผ่าตัดคลอดล่วงหน้าได้ โดยแบ่งคะแนนเสี่ยงรวม 5 ข้อออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ความเสี่ยงน้อยคือ มีคะแนนรวมน้อยกว่า 5 ให้ความมั่นใจแก่มารดาว่าสามารถคลอดทางช่องคลอดได้ ความเสี่ยงปานกลางคือ คะแนนรวมตั้งแต่ 5-9.5 คะแนน มีโอกาสเสี่ยงที่จะผ่าตัดคลอดหรือคลอดได้เองทางช่องคลอดเท่ากัน จึงให้ดูแลความก้าวหน้าของการเจ็บครรภ์จากกราฟดูแลการคลอด และสุดท้ายคือ คะแนนความเสี่ยง 10 คะแนนขึ้นไป มีความเสี่ยงสูงที่จะต้องได้รับการผ่าตัด ให้ผู้ป่วยงดอาหารและน้ำรอไว้ ประเมินความก้าวหน้าการคลอดอย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมห้องทำผ่าตัดทันที การทำนายด้วยคะแนนเสี่ยงตามแบบประเมินนี้ เป็นการทำนายการผ่าตัดคลอดในข้อมูลชุดทดสอบได้ถูกต้อง ช่วยให้มารดาไม่ต้องปวดท้องนาน แพทย์ไม่ต้องใช้ยาเร่งคลอด นอกจากนี้หากโรงพยาบาลชุมชน นำการทำนายภาวะซีพีดีไปใช้ จะช่วยให้แพทย์ พยาบาล ในโรงพยาบาลชุมชนที่มีข้อจำกัดในการผ่าตัดคลอด สามารถตัดสินใจในการส่งต่อมารดาที่มีความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอด มายังโรงพยาบาลจังหวัดเพื่อผ่าตัดคลอดในเวลาที่เหมาะสม สร้างความปลอดภัยทั้งแม่และลูก โรงพยาบาลที่สนใจหรือประสงค์จะนำแบบประเมินไปใช้ทำนาย สามารถขอแบบประเมินได้ที่ นายแพทย์สุธิต คุณประดิษฐ์ กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลลำพูน หรือ suthit@chmai2.loxinfo.co.th. ****************************** 30 สิงหาคม 2550


   
   


View 14    30/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ