อธิบดีกรมควบคุมโรค พาสื่อมวลชนพิสูจน์การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเมืองเหนือ “เดินโก๊ะก๊ะ” หรือเดินนวดเท้าบนกะลามะพร้าว มาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานในชนบท สามารถลดอาการปวด อาการชาเท้า ของผู้ป่วยโรคนี้อย่างดี ทำใช้ที่บ้านได้ด้วย ต้นทุนเพียง 80 บาท ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานไม่เสียขา วันนี้ (29 สิงหาคม 2550) นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยแพทย์หญิง ฉายศรี สุพรศิลป์ชัย ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค และนายแพทย์ทรงวุฒิ หุตามัย ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ นำคณะสื่อมวลชนไปพิสูจน์การใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เรียกว่า เดินโก๊ะก๊ะ เพื่อบริหารเท้าป้องกันโรคแทรกซ้อนที่เท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่สถานีอนามัย ดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญา ของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยตำบลดอนแก้ว หลังจากที่พบว่าในตำบลดอนแก้วมีชาวบ้านป่วยเป็นโรคเบาหวานทั้งหมด 103 คน ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60 เป็นผู้สูงอายุ อายุน้อยที่สุด 36 ปี โดยผู้ป่วยเบาหวาน 80 ราย ได้ถูกส่งต่อจากโรงพยาบาลสารภี มารักษาที่สถานีอนามัยแห่งนี้ นายแพทย์ธวัชกล่าวว่า ขณะนี้คนไทยทั้งชนบทและคนในเมือง ป่วยจากโรคเบาหวานกันมาก พบได้ประมาณร้อยละ 7 ของประชากร หรือประมาณ 3 ล้าน 2 แสนคน โดยพบสูงสุดที่ กทม. ร้อยละ 11 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 7 ภาคกลางและภาคเหนือ ร้อยละ 6 ใกล้เคียงกัน ส่วนภาคใต้พบร้อยละ 5 ในจำนวนนี้ รู้ตัวว่าป่วยเพียง 1 ล้าน 4 แสนคน และรักษาได้ผลดีเพียง 4 แสนคน ในปี 2547 มีผู้ป่วยเข้านอนพักรักษาในโรงพยาบาล 247,165 ราย เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในอัตรา 2 ต่อ 1 โรคนี้ป่วยแล้วไม่มียารักษาหายขาด ต้องใช้ยาควบคุมอาการตลอดชีวิต และออกกำลังกาย จำกัดอาหารด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง ที่พบได้บ่อยๆ ในโรงพยาบาล คือ ไตเสื่อมร้อยละ 44 จอประสาทตาเสื่อมร้อยละ 30 หัวใจขาดเลือดร้อยละ 8 เกิดอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ร้อยละ 4 และถูกตัดขาร้อยละ 2 สาเหตุการเพิ่มขึ้นของผู้เป็นโรคเบาหวานรายใหม่อย่างรวดเร็วในระยะนี้ ได้แก่ ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน มีวิถีชีวิตนั่งๆ นอนๆ ทั้งในการทำงาน การเดินทาง การพักผ่อน เช่น การขาดการออกกำลังกาย นั่งดูทีวี เล่นคอมพิวเตอร์ทั้งวัน กินอาหารที่มีค่าน้ำตาลสูงและที่มีไขมันสูง เช่น ขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน อาหารทอด เป็นต้น กินเป็นประจำ แต่กินใยอาหารจากผักผลไม้และธัญพืชที่เป็นข้าวไม่ขัดสีถั่วน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการชะลอ การดูดซึมน้ำตาลและไขมัน นอกจากนี้จุดอ่อนของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่พบบ่อยก็คือ การเกิดแผลที่เท้า พบได้ประมาณร้อยละ 6 เนื่องจากเส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งเป็นส่วนรับความรู้สึกเสื่อมลงและเกิดอาการชาได้ง่ายบางคนถูกหนูแทะเท้ายังไม่รู้ตัว ร่วมกับเกิดจากเส้นเลือดไปเลี้ยงที่เท้าตีบตัน ทำให้ขาดเลือดจนคลำชีพจรที่เท้าไม่ได้ซึ่งพบถึงร้อยละ 4 จึงต้องมีการดูแลเท้าเป็นอย่างดี ด้านนางชฎารัตน์ เกื้อสุข พยาบาลวิชาชีพ 7 ประจำสถานีอนามัยตำบลดอนแก้ว เล่าว่า ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน สถานีอนามัยได้เปิดคลินิกโรคเบาหวาน ให้บริการทุกวันพุธที่ 2 ของเดือนและปรับเปลี่ยนระบบการบริการเป็นการรักษาแบบองค์รวม (Holistic Approach) ให้ผู้ป่วยเบาหวาน เป็นฝ่ายกำหนด วางแผน ควบคุม ดูแลตนเอง ส่วนเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ช่วยเหลือ สนับสนุนให้ความรู้ โดยผสมผสานภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เรียกว่า เดินโก๊ะก๊ะ เพื่อมาใช้ในการดูแลเท้าด้วยตนเอง เพื่อลดอาการปวดและชาที่เท้า รวมทั้งป้องกันการเกิดแผลเรื้อรังที่จะนำไปสู่การตัดขา ในปี 2543 มีผู้ป่วยเบาหวานในหมู่บ้านตัดขา 1 ราย โดยในปี พ.ศ. 2550 ได้รับงบประมาณจาก สปสช.จัดทำทางเดินโก๊ะก๊ะในสถานีอนามัย เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานเดินบริหารเท้าขณะมารับรักษา โดยใช้กะลามะพร้าวแก่ส่วนหัว ขัดให้เรียบ มาคว่ำฝังติดกับไม้กระดานแถวละ 6 ฝา ห่างกันพอก้าว และมีราวจับขณะเดิน ให้ผู้ป่วยที่มีอาการชาที่เท้าซึ่งพบได้ร้อยละ 40 ของผู้ป่วยเบาหวาน เดินครั้งละ 3 นาทีต่อคน และได้จัดทำโก๊ะก๊ะแบบเคลื่อนที่ จำนวน 50 ชุด โดยนำเอากะลามาขัดให้เรียบ และนำไม้ขนาดกว้าง 5 นิ้วยาว 12 นิ้ว จำนวนสองแผ่นมาเจาะ และนำกะลาที่ได้รับการขัดแล้วคว่ำลงในไม้ที่เจาะ นำแผ่นไม้อีกแผ่นมาประกบและติดกาวทับ นำไปให้ผู้เป็นเบาหวานได้ทดลองใช้นวดและบริหารเท้าได้เองที่บ้าน ซึ่งต้นทุนการผลิตเพียง 80 บาทต่อชุด ผลจากการติดตามกลุ่มที่ทดลองใช้โก๊ะก๊ะแบบเคลื่อนที่ จำนวน 36 ราย พบว่าสามารถลดอาการปวดและชาเท้าได้เป็นอย่างดี การไหลเวียนของเลือดที่เท้าดีขึ้น ไม่พบการมีบาดแผลที่เท้า ผู้ป่วยมีความพึงพอใจที่ได้มีส่วนร่วมในการดูแลตนเอง นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายยังได้ประยุกต์ทำโก๊ะก๊ะแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านที่มีอาการปวด ชาเท้าจากการทำงานและเป็นการออกกำลังกายไปในตัว รวมทั้งมีการขยายนำไปใช้ในทุกอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอนด้วย สำหรับความเป็นมาโก๊ะก๊ะนี้ พ่อคำอ้าย ชูดวง ประธานชมรมหมอเมืองตำบลดอนแก้ว เล่าว่า รุ่นปู่ย่าตายาย เมื่อ 100 กว่าปีก่อน สมัยที่ยังไม่มีแพทย์แผนปัจจุบันในหมู่บ้าน เมื่อเกิดอาการปวดชาขาและเท้าขึ้น คนสมัยนั้นได้ประยุกต์เอาวัสดุพื้นบ้าน โดยนำเอากะลามาคว่ำแล้วใช้เท้าเดินเหยียบลงบนกะลาที่คว่ำต่อๆ กันไป สามารถลดอาการปวดและชาเท้าได้เป็นอย่างดี จากการทดลองทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็เกิดการบอกต่อจากปากสู่ปาก จากคนสู่คนต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ***************************************** 29 สิงหาคม 2550


   
   


View 31    29/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ