รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศนโยบาย “ผู้บริหารสธ...ไร้พุงมุ่งสู่สุขภาพดี”ปี 2559 ประเมินภาวะโภชนาการและสมรรถภาพทางร่างกาย เป็นต้นแบบให้บุคลากรสาธารณสุข นำไปสู่ “องค์กรไร้พุง” ประเมินผลทุกเดือน  เผยคนไทยนิยมบริโภคอาหารว่างมากกว่าร้อยละ 70  หากไม่ลด หวาน มัน เค็ม เสี่ยงเกิดภาวะอ้วนลงพุง  

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศนโยบาย          “ผู้บริหารสธ...ไร้พุงมุ่งสู่สุขภาพดี”ปี 2559  ในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขประจำเดือนมีนาคม 2559 โดยมีนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีทุกกรม ผู้ตรวจราชการทุกเขตสุขภาพ องค์ในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข รับมอบนโยบาย เพื่อเป็นต้นแบบให้บุคลากรสาธารณสุข นำไปสู่ “องค์กรไร้พุง...มุ่งสู่สุขภาพดี” พร้อมนำคณะผู้บริหารประเมินภาวะโภชนาการ ประเมินสมรรถภาพทางร่างกาย  และมอบพาสปอร์ตสุขภาพประจำตัวผู้บริหาร

สำหรับนโยบายที่ประกาศมี 10  ข้อ ดังนี้ 1.ให้ผู้บริหารทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรม 2.ดูแลตัวเองตามหลัก 3 อ.อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์  2 ส. ยาสูบ สุรา และ 1 ฟ. สุขภาพฟัน 3.กินผักและผลไม้ทุกมื้อ 4.ลดการกินอาหาร หวาน มัน เค็ม ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวานหรือน้ำอัดลม 5.จัดอาหารว่างเพื่อสุขภาพทุกครั้งที่มีการประชุม 6.เพิ่มกิจกรรมทางกาย(ออกแรง /ออกกำลังกาย) ให้ได้ 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ 7.อารมณ์ดี ผ่อนคลายความเครียด 8.ลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และลดการสูบบุหรี่ 9.รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันอย่างถูกวิธีตามหลักคือแปรงฟันวันละ  2ครั้ง นาน 2 นาที และ งดกินอาหารหลังแปรงฟันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง  และ10.ตระหนัก มุ่งมั่นควบคุมน้ำหนักและพยายามให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 

โดยในวันนี้ผู้บริหารทุกคน จะได้รับการประเมินภาวะโภชนาการ ด้วยการวัดรอบเอว ชั่งน้ำหนักและตรวจด้วยเครื่องวัดองค์ประกอบของร่างกายจากความต้านทานไฟฟ้า ทำให้ทราบปริมาณไขมันทั้งร่างกาย ไขมันในช่องท้องและมวลกล้ามเนื้อ  และประเมินสมรรถภาพทางกาย ทั้งความอ่อนตัว ความแข็งแรง ความอดทนของระบบไหลเวียน เพื่อประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหารและกิจกรรมทางกาย ทั้งนี้ ยังได้จัดอบรมให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่ทีมเลขานุการผู้บริหารและผู้จัดอาหารในที่ประชุมของหน่วยงานในสังกัด  เพื่อให้สามารถจัดอาหารมื้อหลักและอาหารว่างเพื่อสุขภาพแก่ผู้บริหารและผู้เข้าร่วมประชุมต่อไป  

ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2556 พบคนไทยบริโภคอาหารว่างประมาณ 3 ใน 4  ของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป โดยวัยเด็ก 6-14 ปี มีอัตราการบริโภคสูงสุดร้อยละ 89.8 รองลงมาคือวัยเยาวชน 15-24 ปี ร้อยละ 85.5 วัยทํางาน 25-59 ปี ร้อยละ 77.6 ส่วนวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 70.8 ดังนั้น หากผู้จัดอาหารว่างมีความรู้ด้านโภชนาการ จะสามารถลดปัญหาภาวะโรคอ้วนในประเทศไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจากผลสำรวจพบเด็กนักเรียนทุกๆ 10 คน จะพบมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน อย่างน้อย 1 คน  หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลสุขภาพ บริโภคอาหารที่เน้นคุณค่าทางโภชนาการ และการออกกำลังกายอย่างถูกต้อง จะช่วยลดน้ำหนักส่วนเกิน ให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีสุขภาพดี ป้องกันการเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ข้อกระดูกเสื่อม ซึ่งโรคเหล่านี้สร้างความสูญเสียในการรักษาปีละกว่า 100,000 ล้านบาท

******************************* 2 มีนาคม 2559

 

 

 

 

 

 

 

 

*************************

 

 

 

 

 



   
   


View 21    02/03/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ