คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาการวัยรุ่นสูบบุหรี่ที่มีแนวโน้มอัตราการสูบเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.17 ต่อปี ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษา วิเคราะห์ 3 เรื่อง คือการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบรอบสถานศึกษา การบังคับใช้กฎหมายควบคุมการโฆษณา/การขายผลิตภัณฑ์ยาสูบในตลาดออนไลน์ และกำหนดเป็นตัวชี้วัดการประเมินผลสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ  

          วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2559 ว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบริโภคยาสูบในกลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-18 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของธุรกิจยาสูบ แต่ละปีมีเยาวชนไทยที่เริ่มติดบุหรี่และกลายเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ประจำ 2-3 แสนคน ทดแทน กลุ่มผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตหรือเลิกสูบไป อีกทั้งเยาวชนยังสามารถเข้าถึงบุหรี่ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ โดยผลการเฝ้าระวังทางอินเตอร์เน็ตของกรมควบคุมโรคในเดือนมกราคม 2559 พบว่ามีเว็บไซต์ที่โฆษณาขายบุหรี่มากถึง 50 เว็บไซต์ บางเว็บไซต์มีผู้เข้าชมมากกว่า 2 ล้านครั้ง ทำให้ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมาอัตราการสูบบุหรี่ใน กลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2547 พบร้อยละ 6.58 เพิ่มเป็นร้อยละ 8.25 ในปี 2557 เฉลี่ยร้อยละ 0.17 ต่อปี ทั้งที่ ในช่วงก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี 2534 – 2547 อัตราการสูบบุหรี่ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.42 ต่อปี 

          ที่ประชุมได้มอบให้คณะอนุกรรมการจัดทำแผนฯ และคณะกรรมการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ที่ 2 การป้องกันมิให้เกิดผู้เสพรายใหม่และเฝ้าระวังธุรกิจยาสูบที่มุ่งเป้าไปยังเด็ก เยาวชน และนักสูบหน้าใหม่ เร่งรัดการศึกษา วิเคราะห์กระบวนการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.เร่งรัดให้มีการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบบริเวณรอบสถานศึกษา และพื้นที่เสี่ยงที่เยาวชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบได้โดยง่าย 2.การโฆษณา/การขายผลิตภัณฑ์ยาสูบในการตลาดออนไลน์ โซเชียลมีเดีย โดยให้กรมควบคุมโรค ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษา เฝ้าระวัง กำหนดมาตรการ แนวทางการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการโฆษณาและการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านสื่อออนไลน์และระบบอินเตอร์เน็ต ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ  กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  กสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ 3.การกำหนดเรื่องบุหรี่เป็นตัวชี้วัดในการประเมินสถานศึกษาตามระบบการนิเทศและประเมินผลสถานศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ  

             นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการเสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. .... ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากครม.เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงาน ผู้เสนอร่างกฎหมายพิจารณายืนยัน เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง จากนั้นจะเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เพื่อพิจารณาบรรจุเข้าสู่วาระของ สนช. ต่อไป รวมทั้งได้ออกระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2559 ขึ้น กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ เฉพาะกรณีการติดต่อ หรือการขอเข้าพบระหว่างเจ้าหน้าที่  ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกับผู้ประกอบการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบเท่านั้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้  ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงประกาศเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลใช้บังคับต่อไป 

               สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัดทุกจังหวัด   มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบในระดับพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

***************************************  25 กุมภาพันธ์ 2559

 



   
   


View 15    25/02/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ