สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ทบทวนสถานะองค์ความรู้มิติสังคมวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ” เพื่อเชิญชวนให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานทั้งในหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ  4 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ แอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด และอุบัติเหตุบนถนน มาร่วมทบทวนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าปัจจัยเสี่ยงสุขภาพทั้ง 4 ปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมิติสังคมวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง รวมทั้งเพื่อค้นหาช่องว่างความรู้และประเด็นหัวข้อการศึกษาวิจัยระยะยาวต่อไป

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2559) ที่โรมแรมบัดดี้ โอเรียลทอล ริเวอร์ไซด์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ให้สัมภาษณ์ว่า  จากการทบทวนองค์ความรู้จากงานวิจัยและร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของศูนย์วิจัยที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงสุขภาพทั้ง 4 ปัจจัยเสี่ยงข้างต้น แผนงานวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ (Culture and Health Risks) สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) พบว่า การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงสุขภาพและพฤติกรรมทางสังคมที่ผู้คนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงสุขภาพทั้ง 4 ปัจจัยเสี่ยงนี้ ตั้งอยู่บนระเบียบวิธีการศึกษาเชิงปริมาณ ซึ่งเป็นแนวทางการวิจัยที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลของปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงที่สามารถวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขและสามารถวิเคราะห์ทางสถิติเป็นหลัก หรือการศึกษาปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่เป็น “ความจริงทางวิทยาศาสตร์” ส่งผลให้การศึกษาวิจัยปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพในมิติสังคมวัฒนธรรมที่เป็น “ความจริงทางสังคม” ได้รับการศึกษาและนำมาพิจารณาประกอบการออกมาตรการและนโยบายต่างๆ น้อย เราสามารถจำแนกมิติสังคมวัฒนธรรมของความเสี่ยงสุขภาพ ออกเป็น 2 มิติ คือ 1)วัฒนธรรมของชาวบ้าน เช่น มุมมองและการแสดงออกของชาวบ้านหรือกลุ่มวัฒนธรรมย่อย (Sub-culture) ที่มีต่อความหมายของความเสี่ยงสุขภาพและมาตรการต่างๆ มิติเพศสภาพ (ความเป็นชาย/หญิง) ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ เป็นต้น และ2)วัฒนธรรมขององค์กร เช่น วัฒนธรรมราชการและวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม ที่ส่งผลต่อการกำหนดมาตรการเพื่อการควบคุมป้องกันปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เป็นต้น  

ตัวอย่างเช่น การศึกษามิติทางสังคมวัฒนธรรมของแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยขยายความเข้าใจที่กว้างขึ้นในประเด็นพฤติกรรมการบริโภคแอลกอฮอล์ โดยไม่ได้ตีตรามองผู้บริโภคในฐานะประชากรกลุ่มเสี่ยงที่จะก่อปัญหาสังคมด้านต่างๆ หรือเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา หากศึกษาความหมายทางสังคมของแอลกอฮอล์ในแต่ละวัฒนธรรม เช่น เป็น “ตัวแบ่งเวลา/สถานการณ์” ในหลายสังคมผู้คนนิยมดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาพักผ่อนหรือเทศกาลเฉลิมฉลอง แอลกอฮอล์จึงทำหน้าที่บ่งบอกการสิ้นสุดของช่วงเวลา “ปกติ-เคร่งเครียด” เพื่อเข้าสู่ช่วงเวลา “พิเศษ-ผ่อนคลาย” ในทางกลับกันในบางสังคมดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสื่อนัยยะการสิ้นสุดช่วงเวลาพักผ่อนเพื่อเข้าสู่ช่วงเวลาปกติหรือการทำงาน เช่น ผู้ชายในแคว้นอันดาลูเซีย (Andalusia) จะนิยมดื่มกาแฟผสมแอลกอฮอล์ตอนเช้าหลังตื่นนอนก่อนไปทำงาน ตลอดจนในแทบทุกสังคมมีกฎเกณฑ์ทางสังคมต่างๆ เพื่อควบคุมพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมาะสมไม่ก่อความรำคาญหรืออันตรายกับคนอื่น เป็นต้น พฤติกรรมการดื่มและแอลกอฮอล์จึงมีความหมายทางสังคมแตกต่างกันไปในแต่ละสังคมวัฒนธรรม                         

สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) มีเป้าหมายว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากงานประชุมครั้งนี้และกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาของแผนงานวัฒนธรรมกับความเสี่ยงสุขภาพ จะมีประโยชน์ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่สุขภาพที่ทำงานควบคุมป้องกันปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ มีมุมมองที่กว้างขึ้นในการทำงานและมีความละเอียดอ่อนในการออกมาตรการหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพของผู้คน โดยเคารพความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละวัฒนธรรมในสังคมไทย

*************************   25 กุมภาพันธ์ 2559

 

 

 



   
   


View 20    25/02/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ