ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำบุคลากรสาธารณสุข  ดำเนินการตามมาตรการ 3 เก็บ บวก 5 ส. ป้องกัน 3 โรคไข้เลือดออก ไข้ติดเชื้อไวรัสซิกาและโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ที่น่าห่วงคือ ผลสำรวจยังพบลูกน้ำยุงลาย ในภาชนะเก็บน้ำที่วัดพบร้อยละ 60  โรงเรียนพบร้อยละ 40  บ้านพบร้อยละ 30  โรงพยาบาลร้อยละ 10  ต้องเร่งรัดดำเนินการให้เป็นศูนย์

วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2559) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำบุคลากรสาธารณสุขในตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ดำเนินการตามมาตรการ เก็บ บวก5 ส. และให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้เป็นวันศุกร์แรกที่ได้เริ่มดำเนินการตามนโยบาย ที่ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ ดำเนินการการป้องกันโรคที่เกิดจากยุงลาย 3 โรค คือไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค คือ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่  โดยดำเนินการไปพร้อมๆกับมาตรการ 5 ส. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคที่เกิดจากยุง  โดยทำทุกวันศุกร์ในที่ทำงาน และกลับไปทำที่บ้านในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

ทั้งนี้  กระทรวงสาธารณสุข  ได้กำหนดให้การดำเนินงานตามมาตรการนี้เป็นตัวชี้วัดของหน่วยงาน  โดยจะมีการประเมินผลการทำงาน  จากค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ที่กำหนดให้โรงพยาบาล ต้องมีค่าเป็นศูนย์คือไม่พบลูกน้ำยุงลาย ซึ่งขณะนี้ตรวจพบค่าอยู่ประมาณร้อยละ 10 กำชับให้รีบดำเนินการให้เป็นศูนย์ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามที่น่าเป็นเป็นห่วง คือ ผลการสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในภาชนะเก็บน้ำ ที่วัด โรงเรียน และบ้านประชาชน ยังพบลูกน้ำยุงลายอยู่ในเกณฑ์ที่สูง เช่น ที่วัดตรวจพบร้อยละ 60  ที่โรงเรียนตรวจพบร้อยละ 40 ส่วนที่บ้าน พบร้อยละ 30  ต้องขอความร่วมมือผู้บริหารสถานศึกษา หน่วยราชการ  ผู้ประกอบการ  และประชาชนทุกคน ร่วมมือกันดำเนินการตามมาตรการ 3 เก็บบวก 5 ส. ทุกวันศุกร์เช่นกัน  เพื่อให้การควบคุมป้องกันโรคประสบความสำเร็จ ประชาชนปลอดภัยจากโรคที่มาจากยุงลาย

     *******************  12 กุมภาพันธ์ 2559        

 

 

********************            



   
   


View 11    12/02/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ