รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งปรับประสิทธิภาพงานบำบัดยาเสพติด โดยจะโยกสถาบันธัญญารักษ์ มาอยู่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความคล่องตัวติดตามงาน หลังประเมินผลงานในรอบ 3 ปีมานี้มีผู้เสพติดยาเข้ารับการบำบัดทั่วประเทศกว่า 9 หมื่นราย เป็นรายใหม่ร้อยละ 17 ครึ่งต่อครึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี โดยหลังบำบัดพบมีผู้หันไปเสพยาซ้ำสูงถึงร้อยละ 21
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประเมินผลการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติดตั้งแต่พ.ศ. 2547 -2549 จากสถานบำบัดยาเสพติดทั่วประเทศซึ่งมีทั้งหมด 5,676 แห่ง มีผู้ติดสารเสพติดเข้ารับการบำบัดทั้งหมด 91,239 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้เสพรายใหม่ 15,346 ราย ประมาณร้อยละ 17 ที่เหลือเป็นรายเก่า หลังผ่านบำบัด แล้ว มีผู้หันไปเสพยาซ้ำสูงถึงร้อยละ 21 หรือ 1 ใน 5 คน หันไปเสพยาซ้ำอีก
นายแพทย์มงคลกล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มผู้เสพติดยาเสพติดรายใหม่ ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน อายุในช่วง 15-24 ปี สูงถึงร้อยละ 50 จึงน่าเป็นห่วงมาก เพราะขณะนี้ทั่วประเทศมีเยาวชนอายุ 13-18 ปี ประมาณ 4.3 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีประมาณ 30,000 คน ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงเนื่องจากอยู่ในเงื่อนไขสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่นครอบครัวแตกแยก หากไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอและต่อเนื่อง เยาวชนเหล่านี้ จะกลายเป็นผู้เสพ ผู้ติด และผู้ค้าส่งผลให้เกิดการกระจายตัวของการค้า ทำให้การแพร่ระบาด หวนกลับมาอีก โดยพื้นที่การแพร่ระบาดยาเสพติดหลักๆของประเทศ พบที่กรุงเทพหมานครและปริมณฑล ร้อยละ 35 รองลงมาได้แก่อำเภอเมืองของจังหวัดใหญ่ร้อยละ 35 เฉพาะที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบร้อยละ 7 ยาเสพติดหลักได้แก่พืชกระท่อม
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ จะต้องทำครบวงจร ขณะนี้พบว่าการบำบัดผู้ติดยาแต่ได้ผลน้อย ผู้เสพหรือติดสารเสพติดเข้าสู่การบำบัดรักษาในโรงพยาบาลต่างๆน้อยมากแนวโน้มลดลง เช่นที่โรงพยาบาลปัตตานีมีผู้เข้ารับบำบัดเพียง 41 ราย โรงพยาบาลสุไหง-โกลกมี 140 ราย โรงพยาบาลเบตง รักษา 54 ราย จะต้องเพิ่มความจริงจังและเพิ่มการทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะย้ายสถาบันธัญญารักษ์ ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการด้านการบำบัดผู้ติดยาเสพติดโดยตรง อยู่ในสังกัดกรมการแพทย์ ให้มาอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เป็นแกนหลักประสานงานเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลในและนอกสังกัดทั่วประเทศ เพราะสถานบำบัดส่วนใหญ่ร้อยละ 70 อยู่ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงฯ เพื่อให้งานเดินไปอย่างเป็นระบบ เป็นเอกภาพ สามารถปรับแก้อุปสรรคอย่างทันท่วงที
นอกจากนี้จะเพิ่มโทษพืชกระท่อมให้หนักรุนแรงขึ้น ขณะนี้ใบกระท่อมจัดอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มีโทษเบามาก คือหากเสพมีโทษเพียงจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000.บาท ทำให้กระท่อมหาซื้อง่าย วัยรุ่นภาคใต้ตกเป็นเหยื่อถูกมอมเมาง่ายขึ้น เช่นนำมาต้มผสมกับสารตัวอื่น หรือปั้นเป็นลูกกลอนกระท่อม ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาดำเนินการปรับแก้แล้ว ขณะเดียวกันจะหารือกับนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการสร้างระบบความเข้มแข็งของสังคม โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจที่จะรองรับงาน ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อป้องกันยาเสพติด ให้ครบวงจร สร้างอาชีพคนหนุ่มสาวให้มีรายได้ ไม่ให้ว่างงาน ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ได้มอบให้นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยาเสพติดธัญญารักษ์ ประชุมร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนใต้
ทางด้านนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยาเสพติดธัญญารักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ตัวยาเสพติดที่แพร่ระบาดในปัจจุบันอันดับ 1 ได้แก่ยาบ้า ร้อยละ 72 กัญชาร้อยละ 12 สารระเหยร้อยละ 8 นอกจากนั้นยังพบมีการแพร่ในสถานบันเทิงได้แก่กลุ่มไอซ์ เอ็กซ์ตาซี่ โคเคน มีแนวโน้มระบาดทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตกทม.และปริมณฑล
ปัญหาในด้านการบำบัดผู้ติดยาเสพติดขณะนี้ ใหญ่ๆมี 2 เรื่องได้แก่ งบประมาณเพื่อใช้ในการบำบัดผู้ติดยารายหัว และด้านคุณภาพมาตรฐานการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติด ทำให้งานขาดประสิทธิภาพกว่าที่ควรจะเป็น โดยในเรื่องงบประมาณที่ผ่านมา กำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 6 ของงบแต่ละกรมหรือกระทรวง ทำให้ไม่สามารถจัดงบประมาณให้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ โดยในปีงบประมาณ 2549 ได้รับการจัดสรรงบบำบัดผู้ป่วยนอกรายละ 2,500 บาท ผู้ป่วยในรายละ 5,000 บาท ผู้ป่วยที่ต้องบำบัดอย่างเข้มข้นเพราะติดอย่างรุนแรงรายละ 16,500 บาท และงบติดตามผลการรักษาในรอบ 12 เดือน รายละ 480 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ
โดยสถาบันธัญญารักษ์ได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาค่าบำบัดรายหัวที่ควรจะเป็น ดังนี้คือค่ารักษาประเภทผู้ป่วยนอกรายละ 3,658 บาท 8,199 บาท ผู้ป่วยใน 13,857 บาท 41,419 บาท ผู้ป่วยที่ติดรุนแรงใช้งบเฉลี่ยคนละ 40,406 บาท 124,257 บาท ส่วนงบติดตามผลการรักษาใน 12 เดือน ควรต้องใช้รายละ 482 บาท 1,234 บาท เมื่องบไม่พอจึงต้องของประมาณกลางปี เพิ่มทุกปี ทำให้งานขาดความต่อเนื่อง โดยสามารถติดตามผลผู้เสพหลังผ่านการบำบัดฟื้นฟูได้พียงร้อยละ 63 เท่านั้น ซึ่งตามหลักควรต้องสูงกว่าร้อยละ 90
สำหรับเรื่องคุณภาพมาตรฐานการบำบัดฟื้นฟู ยังไม่เป็นเอกภาพ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ไขโดยจะให้สถานบำบัดทุกแห่งผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน หรือเอชเอ (Hospital Accreditation) ภายในพ.ศ. 2553 ที่ผ่านมามีสถานบำบัดระบบสมัครใจและบังคับบำบัดผ่านเกณฑ์แล้ว 148 แห่ง ในปี 2550 ได้เตรียมขยายผลไปยังสถานบำบัดระบบต้องโทษในเรือนจำ นำร่อง 2 แห่งคือ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษปทุมธานี และเรือนจำคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมาและพัฒนาศักยภาพวัด ศูนย์สงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้มีคุณภาพมาตรฐาน 30 แห่ง
View 14
26/08/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ