กระทรวงสาธารณสุข กำชับหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ รณรงค์ให้หน่วยงาน ชุมชน ประชาชน  เข้มมาตรการ 3 เก็บ บวก 5 ส.ทุกวันศุกร์ ในที่ทำงาน บ้าน โรงพยาบาล โรงเรียน โรงงาน วัด ป้องกัน 3 โรคจากยุงลาย รณรงค์เข้มข้นต่อเนื่อง 2 เดือน ตั้งแต่วันแห่งความรักถึงวันสงกรานต์ เพื่อลดประชากรยุงก่อนถึงช่วงโรคระบาดในฤดูฝน


วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2559) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิโอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ กำชับมาตรการป้องกันควบคุมและข้อสั่งการโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการดูแลโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มงวด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการระบาดของโรคในประเทศไทยก็ตาม ได้มีมาตรการรองรับ 5 ข้อดังนี้ 1.การป้องกัน ด้วยมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค คือ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย พร้อมเพิ่มมาตรการ 5 ส. โดยกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ให้โรงพยาบาล ที่ทำงาน โรงงาน บ้าน ชุมชน โรงเรียน และวัด ดำเนินการทุกวันศุกร์  ส่วนในวันเสาร์-อาทิตย์ ให้บุคลากรกลับไปดำเนินการที่บ้าน พร้อมทั้งได้ทำหนังสือขอความร่วมมือ หน่วยราชการอื่นๆ และประชาชนร่วมมือรณรงค์ในรูปแบบประชารัฐ  เพื่อป้องกันควบคุมโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ 
 

2.การเฝ้าระวังและตรวจจับ จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยจะเฝ้าระวังพิเศษเข้มข้นใน 5 กลุ่มคือ 1.ผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง 2.หญิงตั้งครรภ์ที่มีไข้ออกผื่น 3.กลุ่มไข้ออกผื่นเป็นกลุ่มก้อน 4. เด็กแรกคลอดที่มีหัวเล็ก และ 5.กลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงไป รวมทั้งมีอาการที่เข้าข่ายป่วย คือ มีไข้ออกผื่น ปวดข้อ ตาแดง โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาลและด่านควบคุมโรคที่สนามบินเฝ้าระวังตรวจจับ สอบสวนและดูแลรักษา เพื่อควบคุมไม่ให้แพร่กระจายโรคออกไป
 

3.การดูแลรักษาตามอาการ ได้กำชับให้แพทย์สั่งยาทากันยุงให้ผู้ป่วยเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ยุงกัด หากมีการแพร่ระบาดจะส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ออกไปในชุมชน เพื่อทำลายยุงตัวแก่และลูกน้ำในรัศมี 100 เมตรจากบ้านผู้ป่วยออกไป พร้อมสอบสวนโรค ซักประวัติในเบื้องต้น หากเข้าข่ายจะเก็บเลือดและปัสสาวะส่งตรวจต่อไป   4.การควบคุมป้องกันโรค ใช้มาตรการเดียวกันกับโรคไข้เลือดออก โดยพ่นสารเคมีฆ่ายุงลายตัวแก่ รอบบ้านผู้ป่วยในรัศมี 100 เมตร รวมทั้งกำจัดลูกน้ำยุงลาย และ5.การสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องโรค กลุ่มเสี่ยง ให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทย หากทุกคนร่วมมือกันป้องกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาทอง 2 เดือน ตั้งแต่วันแห่งความรักถึงวันสงกรานต์  เชื่อว่าจะสามารถลดประชากรยุงก่อนถึงช่วงโรคระบาดในฤดูฝนได้

************************* 9 กุมภาพันธ์ 2559


   
   


View 10    09/02/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ