ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ด้านแมลงนำโรค ด้านโรคติดเชื้อและด้านห้องปฏิบัติการวินิจฉัย ชี้โรคติดเชื้อไวรัสซิกามีโอกาสระบาดในประเทศไทยเล็กน้อยถึงปานกลาง เตือนประชาชนที่มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ให้พบแพทย์ทันที หากจะไปในพื้นที่โรคระบาดควรปรึกษาแพทย์ก่อน  ขอความร่วมมือประชาชนต้องช่วยกัน “ปราบยุงลาย” โรคนี้รักษาตามอาการ อาการมักไม่รุนแรงหายเองได้  

วันนี้ (4 กุมภาพันธ์  2559)ที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี   ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2559 และประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ด้านแมลงนำโรค ด้านโรคติดเชื้อและด้านห้องปฏิบัติการวินิจฉัย  ว่า องค์การอนามัยโลกรายงานข้อมูลปี 2558- 30 มกราคม 2559  พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ใน 26 ประเทศ ทั้งนี้ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ได้ประชุมภาวะฉุกเฉินภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ เพื่อพิจารณาสถานการณ์และความเสี่ยง และประกาศเป็นภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ให้ทั่วโลกช่วยกันรับมือกับไวรัสดังกล่าว  
 
ในประเทศไทยพบผู้ป่วยครั้งแรก พ.ศ.2555-2558 กระจายอยู่ทุกภาคเฉลี่ยปีละ 5 ราย  การประเมินความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคนี้ฯในประเทศมีเล็กน้อยถึงปานกลาง  ส่วนความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ช่องทางหลักผ่านทางการโดนยุงลายกัด และช่องทางที่เป็นไปได้ เช่น จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์  รวมทั้งทางการมีเพศสัมพันธ์  แต่พบได้น้อยมาก สำหรับการเฝ้าระวังโรคมีข้อแนะนำให้ดำเนินการใน 4  ประเด็น ได้แก่ การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา การเฝ้าระวังในทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด  และการเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท โดยได้เตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วไว้พร้อมออกสอบสวนโรคทันที นอกจากนี้ ได้เฝ้าระวังในกลุ่มผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาดที่มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ อีกด้วย โรคนี้อาการมักไม่รุนแรง หายได้เอง ตรวจยืนยันเชื้อได้ด้วยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่าย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันบำราศนราดูร  
 
ทั้งนี้  ได้แนะนำให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้  1.ในกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้เฝ้าระวังโรคใน 4 ประเด็นข้างต้น รักษาผู้ป่วยตามแนวทางการรักษา ส่งตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการและควบคุมแมลงพาหะนำโรค  2.ในส่วนประชาชน เน้นการกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายและป้องกันไม่ให้ยุงกัด  เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก หาก มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ อาจมีโอกาสเป็นโรคนี้  ขอให้พบแพทย์ทันที โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ 3.ในผู้ที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ระบาด ต้องระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด ใช้ยาทาป้องกันยุงกัด หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนการเดินทาง  ขอเน้นย้ำว่า โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการลดจำนวนยุงลาย ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งเป็นยุงในบ้าน ประชาชนต้องช่วยกัน “ปราบยุงลาย” ในบ้านและในชุมชนของตนเอง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการป้องกันควบคุมโรค  ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422      
 
  ************************************ 4 กุมภาพันธ์ 2559
 
 
 
 
 
 
****************************


   
   


View 9    04/02/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ