รายงานข่าวโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือเมอร์ส

(Middle East Respiratory Syndrome : MERS)
ประจำวันที่ 28 มกราคม 2559
*********************
1.สถานการณ์ วันที่ 28 มกราคม 2559
1.พบผู้ป่วยยืนยันในประเทศ 1 ราย เป็นชาย อายุ 71 ปี ชาวตะวันออกกลาง
2.มีรายงานผู้สัมผัสผู้ป่วยเสี่ยงสูง 40 คน ติดตามได้ 39 คน เหลือ 1 คนเป็นผู้โดยสารชาวต่างชาติ (อยู่ในสถานที่ที่เตรียมไว้รองรับสังเกตอาการ 25คน ออกนอกประเทศไปแล้ว 14 คน )      
3.สถานการณ์ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ 26 มกราคม 2559  องค์การอนามัยโลก พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,626 ราย เสียชีวิต 586 ราย ใน 26 ประเทศ
4.ขออย่าเชื่อข่าวลือจากทุกทาง และโปรดติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข หากมีข้อสงสัย โทร 1422   ตลอด 24 ชั่วโมง

2.สธ.เข้มคัดกรองผู้เดินทางจากโอมาน พร้อมกำชับขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกสังกัดภาครัฐ –เอกชน เข้มงวดการคัดกรองผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยง 
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค แถลงข่าวความคืบหน้าอาการผู้ป่วยยืนยันโรคเมอร์สและมาตรการป้องกันควบคุมโรคเมอร์สของประเทศไทย ว่า อาการของผู้ป่วยยืนยันโรคเมอร์ชายชาวโอมานอายุ 71 ปี ที่รับไว้รักษาที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2559 นั้น ในวันนี้ผู้ป่วยอาการโดยรวมคงที่ ไม่มีไข้แล้ว หายใจเร็วต้องใช้ออกซิเจน พูดคุยได้ ลุกเดินได้ รับประทานอาหารได้ สรุปอาการทรงตัว ต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดในห้องแยกโรคต่อ 
ส่วนผลการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง  ติดตามได้แล้ว 39 คน จากทั้งหมด 40 ราย ภายในระยะเวลา 4 วันนับจากวันที่พบผู้ป่วยเมอร์สยืนยันรายที่สอง  โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งส่วนกลางและภูมิภาค หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น โดยในวันนี้ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่รับไว้สังเกตอาการรวม 25 คน ประกอบด้วย  สมาชิกในครอบครัว 1 คน แท็กซี่ 2 คน ผู้สัมผัสที่โรงแรม 4 คน ผู้สัมผัสที่โรงพยาบาลเอกชน 11 คน และผู้สัมผัสบนเครื่องบิน 7 คน  (โดยผู้สัมผัสบนเครื่องบินมีทั้งหมด 22 คน ตามตัวได้ 21 คน ในจำนวนนี้มี 14 คนเดินทางออกนอกประเทศไทยแล้ว) ยังเหลือชาวต่างชาติอีก 1 คน อยู่ระหว่างการดำเนินการ ขณะนี้สถานทูตได้ช่วยติดตามแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าผู้สัมผัสกับผู้ป่วย  ไม่ใช่ผู้ป่วย ทุกคนสบายดี ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก  
ทั้งนี้  การอนุญาตให้ผู้สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโรคเมอร์สออกนอกประเทศนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการตามมาตรฐานสากล ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ โดยผู้โดยสารที่มีความประสงค์เดินทางกลับไปยังประเทศต้นทาง  ได้ดำเนินการดังนี้  ตรวจร่างกาย  เพื่อประเมินอาการทางคลินิก หากมีอาการป่วยจะไม่อนุญาตให้เดินทาง ตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้มั่นใจว่าตรวจไม่พบเชื้อ ให้คำปรึกษา และแนวทางปฏิบัติตัว  รวมทั้งส่งต่อข้อมูลผู้เดินทางไปยังจุดประสานงานกฎอนามัยระดับชาติ (IHR-National Focal Point) ของประเทศปลายทาง  ตามกลไกการประสานงานขององค์การอนามัยโลก 
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้มีมาตรการเพิ่มเติม  4 มาตรการ เพื่อป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดโรคในประเทศดังนี้  1.มาตรการระหว่างประเทศ ได้ประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO Regional office) 2.มาตรการที่ด่านควบคุมโรค ได้ตรวจคัดกรองผู้เดินทางที่มาจากประเทศโอมานอย่างเข้มข้นทุกคน  โดยมี 2 เที่ยวบินตรงจากประเทศโอมาน ผู้โดยสารประมาณ 400 กว่าคนต่อวัน  3.มาตรการที่โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน เน้นย้ำขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่งเข้มงวดมาตรการเฝ้าระวัง คัดกรองและคัดแยกผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ  4.มาตรการที่ชุมชน  ได้กำชับเน้นย้ำแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวังผู้ที่มีไข้ ไอ มีประวัติเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง
ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพโดยเฉพาะในช่วงที่อาการแปรปรวน ใช้มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากป้องกันโรคเวลาไอ จาม หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด และหากจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด ขอให้อย่าคลุกคลีกับผู้ป่วยและถ้ากลับประเทศไทยภายใน 14 วัน หากมีอาการ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ให้ไปพบแพทย์ที่ โรงพยาบาลทันที หากมีข้อสงสัยข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
  
3. สรุปผลการให้บริการสายด่วน1422 ปรึกษาประชาชนเรื่อง โรคเมอร์ส
ในรอบ 24 ชั่วโมง วันที่ 27 มกราคม 2559 มีผู้โทรสอบถาม สายด่วน กรมควบคุมโรค รวม 37 ราย เป็นเรื่องโรคเมอร์ส 6 สาย  คำถามที่ถามมากที่สุด คือ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่ในความดูแลทุกคนหรือไม่ ประเทศเสี่ยงโรคเมอร์ส  การคัดกรองผู้เดินทาง มาตรการควบคุมป้องกันโรค  อาการผู้ป่วยโรคเมอร์ส และความรู้เรื่องโรคเมอร์ส
4. ข้อแนะนำประจำวันในการป้องกันตนเองจากโรคเมอร์ส
1. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่มีอาการไอหรือจาม
2. ปฏิบัติตามสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่
3. ถ้ามีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับบุคคลอื่น เมื่อไอหรือจามควรใช้กระดาษชำระปิดปากและจมูกทุกครั้ง และทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่ปิดมิดชิดและล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ พร้อมแจ้งความเสี่ยงที่อาจสัมผัสโรค เช่น เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่สงสัยโรคเมอร์ส
  ************************************ 28 มกราคม 2559
 
 
 
 
 
***************************
 


   
   


View 16    28/01/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ