กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนได้รับผลกระทบจากอากาศหนาวเย็นฉับพลัน ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และอสม. ออกแนะนำประชาชนดูแลสุขภาพ เน้นการรักษาความอบอุ่นร่างกาย สวมเสื้อกันหนาว ห่มผ้า ใช้กระเป๋าน้ำร้อน ช่วยเพิ่มความอบอุ่นร่างกาย สู้ความหนาว ไม่ดื่มเหล้าแก้หนาว ชี้เสี่ยงหัวใจวาย เสียชีวิตได้

          นายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ สภาพอากาศของไทยยังคงหนาวเย็น โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสานที่หนาวเย็นลงเรื่อยๆ  ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และอาสาสมัครสาธารณสุข ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพให้พร้อมรับมือกับอากาศที่หนาวเย็น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ผู้พิการ เด็กเล็ก ขอให้รักษาร่างกายให้อบอุ่น ใส่เสื้อผ้าหลายๆชั้น ถุงเท้า ห่มผ้าห่ม หรือใช้กระเป๋าน้ำร้อน ช่วยเพิ่มความอบอุ่น ไม่นอนในที่โล่งแจ้ง และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก้หนาว หากเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ หมู่ ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-แก้วเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ในช่วงฤดูหนาว ธ.ค.57–ก.พ. 58 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ได้รับผลกระทบและผู้เสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็น 22 ราย เนื่องจากสภาพอากาศค่อยๆเย็นลง แต่ความหนาวเย็นที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในระลอกนี้ เป็นการปรับเปลี่ยนจากอากาศที่ร้อนจัดเข้าสู่ภาวะอากาศเย็นอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน ทำให้ร่างกายบางคนปรับตัวไม่ทัน จึงขอเน้นย้ำประชาชนเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการดื่มสุราแก้หนาว ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบในช่วงฤดูหนาวทุกปี เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น แต่จะทำให้รู้สึกร้อนวูบวาบ จากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ร่างกายสูญเสียความร้อนและน้ำออกทางผิวหนัง อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง หากดื่มจนเมาหลับไปโดยไม่ได้ดูแลร่างกายอบอุ่นอย่างเพียงพอ อาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ หรือจากอาการน็อคเมื่อเลิกดื่มเหล้าแล้วเจอกับอากาศที่หนาวเย็น ทำให้เส้นเลือดหดตัวอย่างรวดเร็ว หัวใจทำงานหนักในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เกิดอาการช็อค เสียชีวิตตามมาเช่นกัน 

ด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่น่าห่วงคือ กลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ผู้พิการที่ร่างกายส่วนล่างไม่มีความรู้สึก ผู้ป่วยที่กินยากันชักซึ่งตัวยาจะมีผลต่อการลดอุณหภูมิร่างกายอยู่แล้ว เนื่องจากกลุ่มนี้ร่างกายจะต้องต่อสู้กับความหนาวมากกว่าคนปกติ หากสัมผัสอากาศเย็นเป็นเวลานาน ระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายจะหนืดขึ้น หัวใจทำงานหนัก มีโอกาสเสี่ยงหัวใจวาย เสียชีวิตในที่สุด รวมทั้งผู้ป่วยหอบหืด อาการจะกำเริบง่ายขอให้สังเกตอาการ หากรุนแรงขึ้นให้โทรแจ้ง 1669 ทันที และขอให้ระมัดระวังดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะศีรษะ ลำคอ และหน้าอก ปลายเท้า เพื่อช่วยให้หัวใจบีบตัวทำงานส่งเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้สะดวก  

ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา รายงานระหว่าง ธันวาคม 2557 - 28 กุมภาพันธ์ 2558 พบผู้เสียชีวิตที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับอากาศหนาว 22 ราย ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือรวม 14 จังหวัด โดยเสียชีวิตในบ้าน กุฏิ ตัวอาคาร ร้อยละ 68 รองลงมาคือลานกลางแจ้งร้อยละ 14 และที่เหลือคือ ใต้ถุนบ้าน กระท่อม ริมห้วย สระน้ำ และข้างกองไฟ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้เกิดการเสียชีวิตในช่วงฤดูหนาว คือ สวมเครื่องนุ่งห่มให้ความอบอุ่นไม่เพียงพอ พบร้อยละ 56 การดื่มสุราร้อยละ 18 ดื่มสุราร่วมกับมีโรคประจำตัวด้วยร้อยละ 15 และผู้มีโรคประจำตัวร้อยละ 12 ที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ตับอักเสบ โรคไต หอบหืด โรคพิษสุราเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง ถุงลมปอดโป่งพอง เป็นต้น ขณะที่ รายงานช่วงฤดูหนาวระหว่าง 22 ตุลาคม 2556-9 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นปีที่มีอากาศหนาวเย็นมาก มีผู้เสียชีวิตถึง 82 ราย

***************************** 26 มกราคม 2559



   
   


View 10    26/01/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ