กระทรวงสาธารณสุข เตือนสาวที่ชอบเสริมอึ๋มในร่างกาย ระวัง อย่าหลงเชื่อหมอเถื่อนเพียงเห็นราคาถูก เพราะมีอันตรายมาก การทำศัลยกรรมตกแต่งต้องทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ และใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานขึ้นทะเบียน จากอ.ย. แล้วเท่านั้น ชี้คอลลาเจนที่หมอเถื่อนเชียงใหม่ใช้เป็นของเหลวเถื่อน ไม่มีใครรับรองความปลอดภัย เนื่องจากยังไม่มีการขึ้นทะเบียนยา ที่ อ.ย.
เกี่ยวกับกรณีนางพรรณี หนองปิงคำ อายุ 38 ปี ชาวจังหวัดเชียงใหม่ ได้เสียชีวิตหลังไปรับการฉีดคอลลาเจนเหลวเสริมทรวงอกกับหมอเถื่อน เหตุเกิดเมื่อบ่ายวันที่ 21 สิงหาคม 2550 หลังฉีดเกิดอาการช็อค และเสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์สันนิษฐานว่า เกิดจากคอลลาเจนที่ฉีดเข้าหน้าอกไป ถูกดูดซึมเข้าเส้นเลือดบริเวณปอดทั้ง 2 ข้าง ส่งผลให้ปอดถูกทำลาย ไม่สามารถทำงานได้ ทำให้สมองขาดออกซิเจน และเสียชีวิตในที่สุด นั้น
ความคืบหน้าดังกล่าว นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ส่งเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข ประสานงานกับทางเจ้าพนักงานตำรวจเจ้าของคดี เพื่อติดตามตัวหมอเถื่อน รวมทั้งสถานที่ที่ทำการฉีดคอลลาเจนดังกล่าวด้วย หากพบว่าเปิดประกอบกิจการสถานพยาบาลให้การรักษาพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2547 ให้ปิดสถานบริการทันที และตัวหมอเถื่อนที่ทำการรักษา จะมีความผิดพระราชบัญญัติการประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มีความผิดต้องได้รับโทษทางกฎหมายเช่นเดียวกัน
ของเหลวที่เป็นสารเคมีใช้ฉีดเข้าร่างกายทุกชนิดอยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข และจัดว่าเป็นยา ต้องได้รับอนุญาตและขึ้นทะเบียนตำรับยา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจากการตรวจสอบฐานข้อมูลทะเบียนยาเพื่อดูว่ามีการขึ้นทะเบียนคอลลาเจน ที่หมอเถื่อนรายดังกล่าวนำมาใช้กับผู้เสียชีวิตหรือไม่ ปรากฏว่าไม่พบมีการขึ้นทะเบียนสารคอลลาเจนสำหรับฉีดแต่อย่างใด ดังนั้นหากพบผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายสารคอลลาเจนดังกล่าว จะมีความผิดทางกฎหมายทั้งสิ้น
ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ผู้อำนวยการกองการประกอบการโรคศิลปะ กล่าวว่า
การเสริมสวยหรือทำศัลยกรรมเสริมความงามทุกชนิด มีโอกาสเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้นผู้ที่ต้องการทำศัลยกรรมเสริมสวยควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ แนะนำให้ทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในสถานพยาบาล ทั้งคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา ด้วยเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน สะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2547 กำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่งจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์สำหรับช่วยชีวิต ในกรณีเกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์กับผู้ป่วยระหว่างเสริมความงาม และสามารถให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที
นายแพทย์ธเรศกล่าวอีกว่า การเสียชีวิตของนางพรรณีเป็นอุทาหรณ์เตือนใจสำหรับสุภาพสตรีหรือสาวประเภทสอง จะต้องคิดให้รอบคอบ อย่าใช้บริการกับหมอเถื่อนเพราะเห็นแก่ราคาถูก ซึ่งการทำกิจกรรมประเภทนี้มักลักลอบทำ บอกกันปากต่อปากในวงจำกัด ยากต่อการตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุข การแก้ไขป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนและร้านเสริมสวยเป็นสำคัญ หากพบมีการหาลูกค้าเพื่อศัลยกรรมตกแต่งเถื่อน ขอให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1997 ต่อ 501-2 หรือต่อ 603-4
****************************** 23 สิงหาคม 2550
View 17
23/08/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ