สาธารณสุข เปิดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และไข้กาฬหลังแอ่น ให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปแสวงบุญ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียในปีนี้ 13,000 คนฟรี และอบรม แซะ ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขฮัจย์ปีแรก 200 คน ไปดูแลสุขภาพพี่น้องไทยมุสลิมที่ซาอุดิอารเบียด้วย
วันนี้ (23 สิงหาคม 2550) ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุวัจน์ เฑียรทอง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการป้องกันและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปแสวงบุญ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ประจำปี 2550 - 2551 ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นและโรคไข้หวัดใหญ่ ฟรี โดยจังหวัดสตูล มีผู้ที่จะเดินทางไปร่วมแสวงบุญ จำนวน 800 คน
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่ชาวไทยมุสลิม ที่จะเดินทางไปร่วมพิธีฮัจย์ในปีนี้ 13,000 คน ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น ชนิดเอ, ซี, วาย และดับเบิลยู 135 (A,C,Y และ W 135) และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ตามที่ประเทศซาอุดิอาระเบียกำหนด เพื่อบริการชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ฟรี เตรียมไว้ชนิดละ 15,000 โดส โดยกทม.สามารถไปขอรับบริการได้ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี, สำนักงานแพทย์ตรวจคนเข้าเมือง ซอยสวนพลู, กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพฯ, สถานเสาวภา สภากาชาดไทย, และโรงพยาบาลนวมินทร์ กทม. ส่วนภาคใต้ รับบริการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ และด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ที่จ.สงขลา และนราธิวาส ขณะนี้ส่วนใหญ่ฉีดไปแล้ว ประชาชนที่จะเดินทางแต่ยังไม่ได้ฉีด ขอให้ไปรับบริการได้ตามสถานที่ที่กล่าวมา อย่างน้อยควรฉีดก่อน 1 เดือนก่อนเดินทาง เพื่อให้ร่างกายมีเวลาสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้นในร่างกาย
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มการจัดอบรม แซะ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มย่อยๆ ที่จะพาชาวไทยมุสลิมในหมู่บ้านต่างๆ ไปร่วมพิธี ให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขฮัจย์ เริ่มเป็นปีแรก นำร่องใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 200 คน โดยอบรมเรื่องการดูแลอาการเจ็บป่วย การใช้ยาพื้นฐานเบื้องต้น การปฐมพยาบาล เป็นกำลังในการช่วยเหลือหน่วยพยาบาลไทย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 25 คน เพื่อให้สามารถดูแลสุขภาพพี่น้องไทยมุสลิมได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น หลังจากนี้ อาจจะพัฒนาให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านต่อไป
ทั้งนี้ ทุกปีจะมีชาวมุสลิมทั่วโลกเดินทางไปร่วมพิธีประมาณ 2 - 3 ล้านคน สถานที่มีความแออัด ผู้ที่จะเดินทางจึงต้องมีการเตรียมตรวจเช็คสุขภาพก่อนเดินทาง เพราะการที่ผู้คนจำนวนมากไปอยู่รวมกันในสถานที่จำกัด เป็นเวลา 2 - 6 สัปดาห์ ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในตอนกลางวันและเย็นจัดในเวลากลางคืน ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ และโรคที่มากับอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด
******************************** 23 สิงหาคม 2550
View 12
23/08/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ