แพทย์เตือนภัยสาวที่พึ่งยาลดความอ้วน มีอันตรายสูง จากการสำรวจของกองควบคุมวัตถุเสพติด พบขณะนี้มีการจ่ายแบบยาชุด ซึ่งมีตัวยา 1-6 รายการ ทั้งทำให้ไม่อยากกินอาหาร ยาขับปัสสาวะ ยาช่วยให้นอนหลับ หรืออาจอยู่ในรูปของอาหารเสริมกินแทนข้าว ชี้ การกินยาลดความอ้วนไม่ได้ผล สุดท้ายจะกลับมาอ้วนมากกว่าเดิม กรณีที่ มีข่าวหญิงวัย 36 ปี กินยาลดลดอ้วนแล้วมีอาการคลั่ง จับลูกสาวอายุ 7 ขวบขังไว้ในรถ แล้วพยายามวิ่งให้รถชน เหตุเกิดเมื่อวานนี้ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมารดาของหญิงรายนี้ให้ข้อมูลว่าสาเหตุของการเกิดอาการคุ้มคลั่ง น่าจะมาจากการกินยาลดความอ้วนยี่ห้อหนึ่งเป็นประจำและต่อเนื่องมานาน ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาชองผู้หญิงรายนี้แล้ว ยังไม่มีหลักฐานว่าใช้ยาลดความอ้วน โดยหลักการแล้ว ผู้มีสิทธิ์จ่ายยาจะต้องเป็นแพทย์ ภายใต้การควบคุมการเบิกจ่ายยาลดความอ้วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ซึ่งขณะนี้พบว่ามีปริมาณการใช้ยาลดความอ้วนลดลง และตามทฤษฎี แพทย์จะจ่ายยาให้รับประทานติดต่อกันได้เพียง 3 เดือน หากไม่ได้ผลแพทย์จะเปลี่ยนวิธีการรักษา เพื่อไม่ให้เกิดอาการข้างเคียงอันตราย เช่น อาการประสาทหลอนจากการกินติดต่อกันนานเป็นปี ในปัจจุบันพบว่าวัยรุ่นไทยจำนวนมากโดยเฉพาะสตรี นิยมใช้ยาลดความอ้วนในการลดน้ำหนัก และมีค่านิยมที่จะต้องมีรูปร่างผอมมากจึงจะเรียกว่ามีรูปร่างดี ทำให้ผู้ที่ไม่นิยมออกกำลังกาย เพื่อลดน้ำหนัก หันมาเข้าคลินิกลดความอ้วนซึ่งเปิดบริการเพิ่มขึ้นมากในขณะนี้แทน จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่า ขณะนี้การจ่ายยาลดความอ้วนต่าง ๆ มักจัดไว้เป็นชุด ให้รับประทานเหมือนกันในแต่ละวัน มีตัวยาประมาณ 1 - 6 รายการ เช่น ยาลดอาการความอยากอาหาร ยาเพิ่มการเผาผลาญอาหาร ยานอนหลับ ยาขับปัสสาวะ ยาระบาย และวิตามิน และยาลดความอ้วนเหล่านี้ ยังขายในรูปของอาหารเสริม เพื่อเลี่ยงการใช้ยาลดความอ้วนโดยตรงแทน ฟังแล้วดูดี ไม่น่ามีอันตราย ทั้งนี้ จากการจัดค่ายลดน้ำหนักของกรมอนามัยในช่วง 1 - 2 เดือนมานี้ จากการสอบถามผู้ที่ร่วมเข้าค่ายพบว่าร้อยละ 61 เคยใช้ยาลดความอ้วนและกินอาหารเสริมมาก่อน ซึ่งลดได้ชั่วคราวเท่านั้น และกลับมาอ้วนกว่าเดิมและเป็นไขมันล้วนๆ เรียกว่า โยโย่เอฟเฟ็ค ซึ่งเป็นผลมาจากหมดฤทธิ์ยาลดความอ้วน แล้วกลับมากินอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลเหมือนเดิม จึงทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น วิธีลดความอ้วนที่ดีที่สุดคือ เน้นการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย ซึ่งได้ผลระยะยาว ไม่เป็นอันตราย และทำให้ร่างกายสมส่วน ทางด้านเภสัชกรวิโรจน์ สุ่มใหญ่ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ยาลดความอ้วนที่ใช้ขณะนี้จะมี 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามตำแหน่งการออกฤทธิ์ของยา ได้แก่ ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ที่สมอง มีผลต่อศูนย์ควบคุมการรับประทานอาหาร หรือความอยากอาหาร ทำให้ไม่รู้สึกอยากอาหาร และยาที่ออกฤทธิ์ส่วนนอกสมองได้แก่ ยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบลำไส้ ยับยั้งการดูดซึมของสารอาหาร ซึ่งยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีผลอันตรายถึงชีวิต โดยตัวยาที่ออกฤทธิ์ที่สมองที่สำคัญคือกลุ่มแอมเฟตามีน เมื่อรับประทานแล้วจะเกิดอาการข้างเคียงคือ คลื่นไส้ นอนไม่หลับ กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ปากแห้ง ท้องผูก เมื่อใช้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดการติดยา ขาดสารอาหาร และขาดภูมิต้านทานโรค แต่ในปัจจุบันยาลดความอ้วนจะเป็นกลุ่มเฟนเทอมีน ดีริเวทีฟ (Phentermine derivative) ซึ่งปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดอาการหลอนประสาทเหมือนกลุ่มแอมเฟตามีน ทั้งนี้ การกินยาลดความอ้วน ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ไม่ควรซื้อยากินเอง หรือฝากเพื่อนรับยาที่คลินิกประจำ อย่างไรก็ตาม ขอเตือนผู้ที่เข้าสถานบริการลดน้ำหนัก ต้องสังเกตว่าผู้ให้บริการเป็นแพทย์หรือไม่ เนื่องจากมักมีผู้แอบอ้างตัวเป็นแพทย์ โดยเมื่อพบแพทย์ จะมีกระบวนการเช่นเดียวกับการตรวจรักษาโรคทั่วไป ได้แก่ การซักประวัติ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต และอื่น ๆ เพื่อประเมินสภาพก่อนให้การรักษาทุกครั้ง และหากรับประทานยาที่แพทย์สั่งแล้วมีอาการใจสั่น นอนไม่หลับอย่างรุนแรง ต้องกลับไปปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนยา ซึ่งโดยปกติแพทย์จะนัดติดตามผลการรักษาทุก 2 สัปดาห์ ****************************** 22 สิงหาคม


   
   


View 18    22/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ