กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย โดยกำหนดเป้าหมายปี 2559 เพื่อคนไทยสุขภาพดี ลดป่วย ลดเสียชีวิต เจ้าหน้าที่มีความสุข รวมถึงการพัฒนาระบบ 10 เรื่อง เน้นบูรณาการการทำงานกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ  ด้วยตัวชี้วัดการทำงานที่สามารถ วัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม

          บ่ายวันนี้ (27 พฤศจิกายน 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2559 และพิธีลงนามคำรับรองการปฏิบัติงานของผู้บริหารกระทรวง (Performance Agreement: PA) ประจำปี 2559 ในระดับกระทรวงระหว่างปลัดกระทรวงสาธารณสุขกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และระหว่างผู้บริหารในแต่ละระดับ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากส่วนกลางประกอบด้วย อธิบดีทุกกรม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศก์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง ผู้อำนวยการสำนัก/กองในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ร่วมพิธีลงนาม 259 คน

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน กำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละระดับ ถ่ายทอดนโยบาย กลยุทธ์ เป้าหมายสู่การปฏิบัติ และมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อให้การดำเนินงานขององค์การเป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายที่กำหนด ประชาชนผู้รับบริการพึงพอใจคุณภาพการให้บริการ โดยในปีงบประมาณ 2559 นี้ได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพประชาชน ใน 10 ประเด็น ได้แก่ 1.การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวโดยบูรณาการ 5 กลุ่มวัยในตำบลต้นแบบ  2.ลดอุบัติเหตุ มีการดำเนินงานตลอดปี กำหนดจุดเสี่ยงจังหวัดละ 5 จุด ประเมินผลทุก 3 เดือน 3.การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) ลดป่วย ลดตาย ลดแออัด ลดเวลารอคอยในการส่งต่อ 4.โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ค้นหา ควบคุม เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อลดปัญหาโรคไตเรื้อรัง

5.บริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การเงิน พัสดุโปร่งใส 6.ระบบส่งเสริมสุขภาพอนามัยสิ่งแวดล้อม ระบบป้องกันควบคุมโรค ระบบคุ้มครองผู้บริโภค ระบบดูแลภาวะฉุกเฉิน 7.กำจัดโรคพยาธิใบไม้ในตับเพื่อลดมะเร็งท่อน้ำดี 8.การพัฒนากฎหมายสาธารณสุข 9.การพัฒนาการผลิตยา/วัคซีน และ10.การเร่งรัดออกใบอนุญาตของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมอบให้ผู้บริหารหน่วยงานในส่วนกลางและภูมิภาคนำไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ วัดผลได้ และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานทุก 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน และ 12 เดือน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

โดยเฉพาะงานการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวโดยการบูรณาการ 5 กลุ่มวัยในตำบลต้นแบบ ได้เริ่มต้นดำเนินงานในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนงบประมาณ 600 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะนี้ได้คัดเลือก 1,068 ตำบล ดูแลผู้สูงอายุ 100,000 คน และจะลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการจัดระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข (Long term care) สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง แบบบูรณาการในพื้นที่ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 นี้               

สำหรับการดำเนินงานในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เริ่มจากการลดผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง (CKD) ด้วยการควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 40-50 เพื่อป้องกันหรือชะลออาการของโรคไตเรื้อรังไม่ให้ก้าวเข้าสู่ระยะท้ายๆ ที่ต้องรับการล้างไต โดยให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ เปิด CKD คลินิกดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรังอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการด้าน การเงิน การคลัง ของสถานบริการสาธารณสุข  กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อช่วยกันเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารการเงินของหน่วยบริการในพื้นที่ไม่ให้มีปัญหาด้านการเงินการคลัง

 ************************************  27 พฤศจิกายน 2558



   
   


View 18    27/11/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ