กระทรวงสาธารณสุข จับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ พัฒนาความเข้มแข็งระบบการควบคุมอาหารปลอดภัย จากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ตลอดห่วงโซ่อาหารของไทย ที่ยังมี ช่องว่างและแก้ปัญหาการทับซ้อนของหน่วยงานดูแลใน 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วย ความปลอดภัยของเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ กฎหมายการขนส่งอาหารที่ถูกอนามัย การรับรองคุณภาพความปลอดภัย ของเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่ตรวจสอบทวนย้อนได้ตั้งแต่ฟาร์มถึงผู้บริโภค การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้บริโภค และการ สื่อสารข้อมูลความปลอดภัยทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพและส่งเสริมการค้า

วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2558) ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมการพัฒนาความร่วมมือการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ (National Level meeting on Institutional Strengthening on Food Safety and Quality in Supply Chain Management of Livestock Products) โดยมีผู้บริหารระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องด้านอาหารปลอดภัย จากกระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อสร้างประสิทธิภาพในระบบการบริหารจัดการอาหารที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์ (Livestock Product) ตลอดห่วงโซ่อาหาร

นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวว่า สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเอฟเอโอ จัดทำโครงการ เสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันที่กำกับดูแลความปลอดภัย ด้านอาหารและการควบคุมคุณภาพอาหารในการบริหารจัดการห่วงโซ่ของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพื่อสร้างประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจากฟาร์ม การชำแหละ การขนส่ง จนถึงแหล่งจำหน่ายในท้องตลาดสู่ผู้บริโภค โดยได้มีการศึกษาประเมินช่องว่างและการทำงานที่ทับซ้อนระหว่างสองสถาบันหลักคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งพบว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาแก้ไขการทำงานใน 5 เรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนและส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าในและระหว่างประเทศ ได้แก่ นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วย ความปลอดภัยของเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ กฎหมายการขนส่งอาหารที่ถูกอนามัย การรับรองคุณภาพความปลอดภัยของเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ ที่ตรวจสอบทวนย้อนได้ ตั้งแต่ฟาร์มถึงผู้ บริโภค การให้ ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ บริโภค และการสื่อสารข้อมูลความปลอดภัย ทั้้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยจะมีการดำเนินงานในสองจังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ และ สระบุรี ในปี 2559 นี้

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาหารและโภชนาการ ของเอฟเอโอ นางซาชิชารีน (Ms.Shashi Sareen) ได้กล่าวเสริมว่า เอฟเอโอได้คัดเลือกไทยเป็นประเทศนำร่องศึกษาระบบการทำงานบูรณาการของสถาบันหลักด้านความปลอดภัยอาหารเพื่อใช้เป็นแบบอย่างในภูมิภาคเอเชียต่อไป จะดำเนินงาน 2 ปีระหว่างปี 2558 - 2559 ผลที่จะได้จากการทำงานครั้งนี้ จะช่วยประเทศไทยวาง Road Map พัฒนายุทธศาสตร์การควบคุมอาหารผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ให้มีความชัดเจนและได้ประโยชน์ต่อประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

***************************************  19 พฤศจิกายน 2558

 



   
   


View 18    19/11/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ