กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงรับประทานเนื้อหมู เลือดหมูและเครื่องในหมูดิบ  ปรุงสุกๆดิบๆ เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับในเนื้อหมู ทำให้หูหนวก ตาบอดหรือเสียชีวิตได้  ยอดผู้ป่วยในปี 2558 จนถึงขณะนี้ มี 307 คน เสียชีวิต 15 ราย พบมากกว่าปี 2557 ตลอดทั้งปี กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เร่งให้ความรู้เพื่อลดป่วย ลดพิการและเสียชีวิต

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูหนาวหลายพื้นที่มีการจัดงานบุญ งานประเพณี และมีการจัดเลี้ยงอาหาร ซึ่งอาหารที่นิยมส่วนใหญ่เป็นประเภท ปิ้งย่าง  จิ้มจุ่ม  ลาบ ยำต่างๆ บางครั้งอาจปรุงแบบดิบๆ หรือสุกๆ ดิบ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคที่มากับอาหาร ที่พบได้บ่อยและมีอันตรายถึงพิการและเสียชีวิต คือ  โรคไข้หูดับ  ที่มีหมูเป็นพาหะนำโรค ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย เพื่อป้องกันการป่วยและเสียชีวิ

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2558ตั้งแต่ 1 มกราคมถึง 30 ตุลาคม พบผู้ป่วย 307 คน เสียชีวิต 15 ราย ซึ่งพบผู้ป่วยมากกว่าปี 2557 ตลอดทั้งปีที่มีผู้ป่วยโรคไข้หูดั 226 คนเสียชีวิต 15 ราย  พบผู้ป่วยมากสุดที่ จ.นครสวรรค์ 53 คน น่าน 48 คน นครราชสีมา 45 คน  สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ คือผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค ผู้เลี้ยง ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลหรือทางเยื่อบุตา และเข้าร่างกายจากการรับประทานเนื้อหมู เลือดหมูและเครื่องในหมูที่ปรุงแบบดิบๆ เช่น ลาบ หลู้ รวมทั้งอาหารประเภทปิ้งย่าง จิ้มจุ่มที่ยังไม่สุกเพียงพอ

ด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  เชื้อแบคทีเรียชื่อ สเตร็บโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) เป็นสาเหตุเกิดโรคไข้หูดับในคน  โดยเชื้อจะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู บริเวณต่อมทอนซิล คอหอยและในโพรงจมูก  นอกจากนี้ยังพบเชื้ออยู่ในกระแสเลือดหากหมูมีอาการป่วย  หลังจากเชื้อเข้าสู่รางกาย 3-5 วัน จะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ และมีอาการเฉพาะคือเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีไข้ ปวดศีรษะมาก คอแข็ง หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทหูจะทำให้การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลันจนถึงขั้นหูหนวก ภายหลังหายป่วยแล้วอาจจะมีความผิดปกติในการทรงตัว หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตาจะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอดได้ นอกจากนี้หากติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงจะทำให้เสียชีวิตได้  ดังนั้นหลังรับประทานอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมูแล้วมีอาการดังที่กล่าวมา ขอให้รีบพบแพทย์ทันที  โรคนี้รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

การป้องกันการติดเชื้อไข้หูดับ  มีดังนี้ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อหมู ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ หลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมูที่จำหน่ายข้างทางหรือร้านของป่า  ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ หรือเนื้อยุบ  ให้ปรุงเนื้อหมูให้สุกด้วยความร้อน นานอย่างน้อย 10 นาที หรือต้มจนเนื้อไม่มีสีแดง  ไม่รับประทานเนื้อและเลือดหมูดิบ หรือสุกๆดิบๆ ผู้เลี้ยงหมู หรือทำงานที่ฟาร์มเลี้ยงหมู ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง ถุงมือยาง และเสื้อผ้าที่รัดกุมระหว่างทำงาน หลังปฏิบัติงานเสร็จให้อาบนำชำระร่างกายให้สะอาด ผู้ที่มีบาดแผลที่มือหรือที่เท้าควรหลีกเลียงการสัมผัสหมู   ไม่นำหมูที่ป่วยตายมาชำแหละ หากประชาชนมีข้อสงสัยโทรสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง 

****************************************** 8 พฤศจิกายน 2558



   
   


View 21    08/11/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ