รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงโรคจากอาหารและน้ำที่ไม่สะอาดในช่วงหน้าแล้ง  ที่พบได้บ่อยคืออุจจาระร่วงและอาหาร      เป็นพิษ ต้นปีจนถึงเดือนตุลาคม 2558 พบผู้ป่วยรวมกันกว่า 9.9 แสนคน กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ แนะประชาชนยึดหลัก ป้องกันป่วยคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่รับประทานอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ  โดยเฉพาะอาหารทะเล

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปีนี้หลายหน่วยงานให้ข้อมูลทิศทางเดียวกันว่าจะแล้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งจะทำให้เกิดโรคที่มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด ที่พบได้บ่อยคือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตุลาคม 2558 พบผู้ป่วยรวมกันกว่า 9.9 แสนคน มากสุดคืออุจาระร่วง 8.8 แสนกว่าคน อาหารเป็นพิษ 1 แสนกว่าคน ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อลดผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด รวมทั้งป้องกันการระบาด โรคนี้พบได้ตลอดปีเนื่องจากการเดินทางมากขึ้น มีเทศกาล รวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานซึ่งการที่คนอยู่รวมกันมากๆ หากระบบสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่ดี ส้วมสะอาดไม่เพียงพอ มีการขับถ่ายลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ขยะมูลฝอยคั่งค้างเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน รวมทั้งความเพียงพอของน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด

            ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งรณรงค์ปรับปรุงสุขาภิบาลอาหารและสิ่งแวดล้อม ระดับคลอรีนในน้ำประปา ความสะอาดร้านอาหาร แพปลา เรือประมง แผงอาหารทะเล ตลาดสด โรงงานผลิตน้ำแข็ง โรงงานผลิตไอศกรีม สุ่มตรวจอาหารทะเลในแหล่งกระจายอาหาร เฝ้าระวังโรคหากมีรายงานผู้ป่วยในพื้นที่ เตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว อกสอบสวนควบคุมโรคทันทีไม่ให้โรคแพร่ระบาด เตรียมพร้อมห้องตรวจทางห้องปฏิบัติการให้ได้ผลการตรวจหาเชื้อเบื้องต้นภายใน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มีความสำคัญเช่น บิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค เป็นต้น สื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนมีความรู้เรื่องโรค ให้อาสาสมัครสาธารณสุขเฝ้าระวังผู้ป่วยและสื่อสารความรู้เรื่องโรคในระดับชุมชน

ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุของโรคส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ  อาหารกล่อง อาหารค้างคืน รวมทั้งการมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ไม่ดี เช่น ไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ การใช้ช้อน แก้วน้ำร่วมกับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ อาการป่วยของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำจะคล้ายกัน ได้แก่ ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หรือมีมูก ปวดท้อง  คลื่นไส้อาเจียน ในการดูแลผู้ป่วย ในระยะแรกควรให้ดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์  โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เสี่ยงชีวิตได้ง่ายจากอาการขาดน้ำรุนแรง

วิธีการป้องกันโรค ขอให้ระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม ยึดหลักป้องกันป่วยคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่รับประทานอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารทะเล ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม ทำความสะอาดครัวปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก ส่วนเจ้าของแหล่งเก็บแหล่งกระจายอาหารสด ตลาด ดูแลความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ ให้มีความสะอาดถูกหลักอนามัย ตามแนวทางที่กรมอนามัยกำหนด และกำชับให้จังหวัดติดตามดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด หากมีข้อสงสัยเรื่องโรคและการปฏิบัติตัว สอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง     

                                                     *************************** 2 พฤศจิกายน 2558



   
   


View 19    02/11/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ