กระทรวงสาธารณสุข ชวนคนไทยป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ที่คร่าชีวิตปีละกว่า 25,000 ราย ด้วย 3 อ. 2 ส. พร้อมเรียนรู้สัญญาณเตือนโรคคือเวลายิ้มพบว่ามุมปากข้างหนึ่งตก ยกแขนไม่ขึ้น 1 ข้าง พูดแล้วคนฟัง ฟังไม่รู้เรื่อง รีบโทรสายด่วน 1669 นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วนภายใน 3ชั่วโมง 30 นาที เพื่อช่วยชีวิตและฟื้นฟูกลับมาใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทั่วโลกพบผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 17ล้านคน เป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเกือบ 6 ล้านคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้พิการถาวร สำหรับประเทศไทย ในปี 2557 มีจำนวนตายด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 25,114 คน เฉลี่ยในทุกๆ 1 ชั่วโมงจะมีคนตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 3 คน ซึ่งองค์การอัมพาตโลก ได้รณรงค์ให้เพิ่มการรับรู้และตระหนักว่าโรคหลอดเลือดสมองระบาดไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตแต่เป็นโรคที่สามารถป้องกัน รักษาและฟื้นฟูได้ ผู้เชี่ยวชาญและประชาชนต้องเรียนรู้และใส่ใจเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้โรคนี้เป็น 1 ใน 11 สาขาโรคสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนาระบบบริการรองรับ ในทุกเขตสุขภาพ จัดระบบบริการโรคหลอดเลือดสมอง มีช่องทางด่วนพิเศษ ให้ได้รับการรักษาภายในไม่เกิน 4ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะช่วยลดความพิการและการเสียชีวิตของผู้ป่วย พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งเป็นเครือข่ายดูแลในระยะฉุกเฉินให้ผู้ป่วยปลอดภัยก่อนนำส่งโรงพยาบาลใหญ่ และรณรงค์ให้ประชาชนตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานในประชาชนอายุ 35ปีขึ้นไปให้ได้ร้อยละ 90 รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระดับชุมชนหมู่บ้านทุกแห่ง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด
ด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่สามารถป้องกันได้คือ อายุมากขึ้น พันธุกรรม ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้คือ ภาวะความดันเลือดสูง เบาหวาน คอเลสเตอรอลในเลือดสูงการดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ โรคนี้ป้องกันได้โดยการวางแผนการดำเนินชีวิต ประเมินความเสี่ยงโรคจากการสังเกต คือ เวลายิ้มพบว่ามุมปากข้างหนึ่งตก ยกแขนไม่ขึ้น 1 ข้าง มีปัญหาด้านการพูดแม้แต่ประโยคง่ายๆ พูดแล้วคนฟัง ฟังไม่รู้เรื่อง ต้องรีบโทรสายด่วน 1669 นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วนภายใน3ชั่วโมง 30 นาที เพื่อให้โรงพยาบาลช่วยรักษาชีวิตและสามารถฟื้นฟูกลับมาได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด ภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาทีตามมาตรฐานการรักษา นอกจากนี้ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพด้วย 3 อ. 2 ส. ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียด งดบุหรี่ งดสุรา เพื่อจะได้มีสุขภาพดีไม่มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
************************************** 1 พฤศจิกายน 2558
View 18
01/11/2558
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ