กระทรวงสาธารณสุข ชวนคนไทยฝึกสติ นำเทคนิค “รู้ลมหายใจและรู้ในกิจที่ทำ” ขณะทำกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน ช่วยให้สุขภาพกาย-ใจแข็งแรง  ลดป่วย ลดเครียด ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เกิดจาก“พฤติกรรมเนือยนิ่ง” และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตปีละหมื่นกว่าราย แก้ไขได้ง่ายเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น

วันนี้ (30 ตุลาคม 2558) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.ชัยพร  พรหมสิงห์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านส่งเสริมสุขภาพ) กรมอนามัย นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าว  “ชวนคนไทย ฝึกสติ สร้างสุข ลดโรคพร้อมกันทั่วประเทศ” เนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2558 
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า นับแต่ปี 2532 เป็นต้นมา รัฐบาลได้มีมติให้ทุกวันที่ 1-7 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ซึ่งปีนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ได้นำแนวคิด เรื่อง “สติ” (Mindfulness) มาใช้สร้างสุขในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะนำมาใช้กับกิจกรรมทางกาย (Physical Activity: PA) วิธีการฝึกทำได้ง่าย ด้วยเทคนิค “ฝึกให้รู้ลมหายใจและรู้ในกิจที่ทำ” ในขณะทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งเป็นแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพที่สำคัญ สามารถป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หากนำ “สติ” ไปใช้ร่วมด้วย จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพทั้ง 4 ด้านคือ ทางกาย ทำให้กิจกรรมทางกายรวมทั้งการออกกำลังกายเป็นไปอย่างเบิกบานใจ ไม่น่าเบื่อ มีความปลอดภัย และทำได้ประจำมากขึ้น ทางจิตใจ ทำให้จัดการต่อความเครียดได้ดี ทางสังคม ช่วยให้มีสติในการสื่อสารและทำกิจต่างๆ อย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น ทางจิตวิญญาณ เป็นรากฐานการพัฒนาความรู้จักพอ รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ปล่อยวางได้
 
ทั้งนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทยในปี 2558 พบว่ามีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งพฤติกรรมการรับประทานอาหาร สูบบุหรี่ ดื่มสุรา และมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ที่เรียกว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” ส่วนใหญ่อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์  โทรศัพท์และการเดินทาง นอกจากทำให้มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนรวมร้อยละ 30  ยังพบว่าทำให้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 4 โรค คือโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และมะเร็ง รวมกันถึงร้อยละ 25 ด้านสุขภาพจิตล่าสุดพบประมาณ 9 แสนคนเป็นโรคซึมเศร้า ประมาณ 1.6 ล้านคนเป็นโรควิตกกังวล  ทั้งนี้ ถ้าใจเครียดจะส่งผลต่อกาย นำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ ได้ และเมื่อกายป่วยก็ส่งผลต่อจิตใจ หากไม่สามารถปรับตัวให้อยู่กับการเจ็บป่วยทางกายได้ ใจก็ยิ่งป่วยถึงขั้นซึมเศร้า เสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง 
 
ด้านนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่า ผู้ที่ฝึกสติเป็นประจำจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมอง ทำให้มีความสงบมากขึ้น ลดความเครียดและซึมเศร้าลงได้ โดยกรมสุขภาพจิตมีโปรแกรมพัฒนาสติเพื่อสุขภาพแบบง่าย เช่นการฝึกเดินอย่างมีสติ  การฝึกกินอย่างมีสติ การฝึกสำรวจความ รู้สึกของร่างกาย การฝึกสติในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการตึงเครียด ไม่สะสมเรื้อรังจนก่อให้เกิดโรคร้ายแรง เป็นต้น ขณะนี้ มีองค์กรภาครัฐและเอกชนนำโปรแกรมการสร้างสุขด้วยสติไปใช้ในการพัฒนาองค์กร อาทิ บริษัท โรงเรียน โรงพยาบาล ในปีนี้ตั้งเป้าดำเนินการในองค์กร 20 แห่งทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการและองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ 
 
ด้าน นายแพทย์ชัยพร พรหมสิงห์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย  กล่าวว่า  กิจกรรมทางกาย เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น การขึ้นบันได การเดิน ปั่นจักรยาน การลุกยืน เดินไปดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เป็นต้น จากการสำรวจพบว่า คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงจากร้อยละ 85 ในปี 2550 เหลือเพียงร้อยละ 62-68 ในปี 2552-2557 เป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตถึง 11,129 รายในปี 2552 และยังนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรัง โดยกลุ่มคนที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยที่เรียกว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” (Sedentary Behavior) เช่น การนั่งเล่นโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ นั่งประชุม เป็นต้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายแห่งชาติ ฉบับที่ 1  พ.ศ.2559-2563  ตั้งเป้าให้คนไทยมีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพิ่มจากร้อยละ 68 เป็นร้อยละ 75 ในอีก 5 ปีข้างหน้า และมีพฤติกรรมเนือยนิ่งลดลงร้อยละ 10 โดยจะเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์นี้ต่อคณะรัฐมนตรีในต้นปี 2559 ต่อไป
  
  
 
ด้าน นายแพทย์ณัฐวุฒิ  ประเสริฐสิริพงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า  กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า  1 ล้าน 4 หมื่นคน ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชน ได้เน้นให้นำแนวคิดสติ รู้ในกิจที่ทำ มาประกอบกับกิจกรรมทางกาย ไปขยายผลในชุมชนผ่านการออกกำลังกายในชมรมผู้สูงอายุ ชมรมออกกำลังกาย เช่น ชมรมเต้นแอโรบิก รำไม้พอง เกิดเป็นหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรง ลดป่วย ลดโรค ลดค่าใช้จ่ายของประเทศและช่วยสร้างเศรษฐกิจโดยรวมประเทศ 
 
นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต ได้ร่วมมือกับ สสส.นำมิติด้านสุขภาวะทางจิตไปประสานกับสุขภาวะทางกาย ผ่านโปรแกรมการทำกิจกรรมทางกายอย่างมีสติ ซึ่งมีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่า จะเกิดประสิทธิภาพและความสุขเพิ่มมากขึ้น ในการทำกิจกรรมทางกายในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ เดิน วิ่ง ปั่นจักรยานอย่างมีสติ ทั้งนี้ สสส.จะนำโครงการฯ นำร่องในเครือข่ายกิจกรรมทางกาย ได้แก่ ชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียน องค์กรไร้พุง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลสุขภาวะ องค์กรสุขภาวะ รวมทั้งอบรมนักวิ่งหน้าใหม่  นอกจากนี้ ยังได้เตรียมที่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสาธารณสุข ครั้งที่ 6 ในวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ  
 
การทำกิจกรรมทางกาย หากนำ “สติ” ไปใช้ประกอบร่วมด้วย ย่อมช่วยให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี จึงขอเชิญชวนร่วมกิจกรรมเรียนรู้แนวทางการฝึกสติ พร้อมฟังเสวนาจากประสบการณ์จริงของคนดัง เช่น คุณสมจิตร  จงจอหอ นักมวยโอลิมปิกเหรียญทอง คุณครูกุ๊กกี๊ พัชรมน นักสู้โรค และคุณจุ๋ม ปอยเด้ง รวมทั้ง ชม Mini Concert จากศิลปินชื่อดัง “โจ-ก้อง” และ “ดันดารา” ในงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2558 มหกรรมความสุข : สติสร้างสุข “ชีวิตดี๊ดี...ถ้ามีสติ” ระหว่างวันที่ 1-2 พ.ย. 2558 ณ สถานีรถไฟกรุงเทพฯ หัวลำโพง ตั้งแต่เวลา 13.00-19.00 น. โดยส่วนภูมิภาคสามารถเข้าร่วมกิจกรรมฝึกสติกันได้ที่หน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-7 พ.ย. นี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวในตอนท้าย  
 *****************************  30 ตุลาคม 2558


   
   


View 17    30/10/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ