กระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลในสังกัดตั้งหน่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เตรียมความพร้อมผู้ป่วยและญาติเพื่อให้พร้อมกลับไปใช้ชีวิตในช่วงวาระสุดท้ายที่บ้าน ตามมติสมัชชาอนามัยโลก
 

          วันนี้ (10 ตุลาคม 2558) ที่โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี จ.ปทุมธานี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์
ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุพรรณ  ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดนิทรรศการเนื่องในวันดูแลผู้ป่วยประคับประคองและระยะสุดท้ายโลก (World hospice and palliative care day 2015) ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม ในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่   10 ตุลาคม 2558 มีกิจกรรมพร้อมกันทั่วโลก ภายใต้แนวคิด “Hidden Live /Hidden patients”การเข้าถึงผู้ป่วยทุกประเภททุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ เช่น ผู้ป่วยเด็ก กลุ่มเพศที่ 3 กลุ่มนักโทษที่ติดเชื้อรุนแรง   ทหารตำรวจที่บาดเจ็บในหน้าที่และศึกสงคราม และผู้ป่วยที่อยู่ถิ่นทุรกันดารได้มีทางเลือกการรักษา
 
          ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากการประชุมของสมัชชาอนามัยโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีมติให้ประเทศสมาชิกวางแผนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การให้บริการอย่างทั่วถึงเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการดูแลแบบองค์รวม ความเข้าใจอันดี สามารถลดความทุกข์ทรมานจากการยื้อชีวิตบุคคลผู้เป็นที่รัก ช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบในวาระสุดท้ายของชีวิต ในส่วนกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้โรงพยาบาลในสังกัด  กรมการแพทย์ จัดตั้งหน่วยดูแลและให้บริการแบบประคับประคอง ขณะนี้ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค มีคู่มือการดำเนินงาน และแนวปฏิบัติการ จัดทำหลักสูตรการอบรมสำหรับบุคลากร แพทย์ พยาบาล อาสาสมัครผู้ดูแลเป็นต้นแบบให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศนำไปใช้ดำเนินการ
 
          ด้านนพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า  โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี  ได้จัดบริการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่แพทย์วินิจฉัยและคาดการณ์จะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน 6 เดือน  มีหออภิบาลคุณภาพชีวิตให้บริการ (Quality of life Care Unit) จำนวน 10 ห้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมผู้ป่วยและญาติเพื่อให้พร้อมกลับไปใช้ชีวิตในช่วงวาระสุดท้ายที่บ้านท่ามกลางบุคคลอันเป็นที่รักและสถานที่ที่ผู้ป่วย มีความผูกพันคุ้นเคย โดยจะรับผู้ป่วยไว้ดูแลระยะแรก 2 สัปดาห์ เพื่อรักษาระงับความเจ็บปวด ฝึกสอนให้ญาติ  มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย สำหรับห้องอภิบาล จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยและญาติ ในการพักผ่อน อาทิ ห้องครัวทำอาหาร ห้องรับประทานอาหาร ห้องปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา มุมศิลปะสำหรับบุตรหลานผู้ป่วย ห้องสำหรับการเลี้ยงสุนัข เป็นต้น และภายหลังที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจะมีทีมติดตามประเมิน เพื่อให้การดูแลและช่วยเหลือญาติต่อไปอย่างต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 6 เดือน 
 
                   ทั้งนี้ โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี ยังให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด ที่ทันสมัย  ได้มาตรฐานของประเทศ มีผู้ป่วยเข้ารับบริการเฉลี่ยปีละ 2,000คน ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งไทรอยด์   มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีการใช้กัมมันตรังสีในการรักษามะเร็งไทรอยด์ ซึ่งได้ผลการรักษาทำให้มีผู้ป่วยมีอายุเกิน 5 ปี ได้ถึงร้อยละ 90 ขยายบริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบองค์รวมไปศูนย์มะเร็ง และโรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 16 แห่งทั่วประเทศ
 
****************** 10 ตุลาคม 2558
 
                                                                                                                          


   
   


View 13    10/10/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ