กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนพื้นที่ฝนตกหนักจากพายุมูจีแก เดินลุยน้ำท่วมขัง ย่ำโคลนหรือช่วงทำความสะอาดบ้านเรือน ระวังติดเชื้อโรคฉี่หนู โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลที่บริเวณเท้า ขา การใช้พลาสเตอร์ปิดแผลไม่สามารถกันน้ำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ควรสวมรองเท้าบูทยางหรือสวมถุงพลาสติกจะป้องกันได้ผลกว่า เนื่องจากเชื้อโรคชนิดนี้ สามารถไชเข้าแผลหรือไชผ่านทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานได้
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงน้ำท่วมขังหรือทำความสะอาดบ้านหลังน้ำท่วม ประชาชนอาจป่วยเป็นโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) เชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำ พื้นดินเป็นดินโคลนชื้นแฉะ เชื้อโรคชนิดนี้มีลักษณะพิเศษกว่าชนิดอื่น สามารถไชเข้าทางบาดแผล หรือตามรอยถลอก รวมทั้งผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานได้ด้วย หากไม่มีการป้องกันดีพอ อาจเสี่ยงติดเชื้อโรคชนิดนี้ได้ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลป้องกันโรคและในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เฝ้าระวังโรคเป็นเวลา 15 วันและกำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ซักประวัติการลุยน้ำ ย่ำโคลนผู้ป่วยที่มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ทุกราย เนื่องจากโรคนี้มียาปฏิชีวนะรักษาหาย
ทางด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าการป้องกันโรคฉี่หนู ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมรองเท้าเช่นรองเท้าบู๊ทยาง หรือสวมถุงมือหนาๆ เมื่อต้องสัมผัสน้ำเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลจากของมีคมบาดหรือทิ่มแทง ขณะเดินย่ำน้ำ ย่ำโคลน หรือระหว่างทำความสะอาดบ้าน หากมีบาดแผลที่เท้าหรือที่บริเวณขา ขอให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผลการใช้พลาสเตอร์ปิดแผลไม่สามารถกันน้ำได้ 100 เปอร์เซ็นต์และหากปลาสเตอร์ปิดแผลเปียกน้ำแล้ว ควรรีบล้างแผลให้สะอาดและเปลี่ยนปลาสเตอร์ ชิ้นใหม่ปิดแทนทันที
สำหรับโรคฉี่หนู เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเชื้อจะอยู่ในฉี่ของหนูทุกชนิดมีชีวิตอยู่ในน้ำได้ หลายวัน สถานการณ์โรคฉี่หนูพบได้ตลอดปีในปีนี้มีรายงานใน 63 จังหวัด รวมผู้ป่วยสะสม 1,259 คน เสียชีวิต 24 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ และเป็นเกษตรกร พบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาและพบได้ในกรณีที่พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังในเมืองที่อาจมีเชื้อโรคนี้อยู่อาการของโรคนี้จะเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดน่อง ตาแดง หากประชาชนมีอาการที่กล่าวมา ขอให้นึกถึงโรคนี้ และรีบพบแพทย์ และที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพราะหากรักษาล่าช้า อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ไตวาย ตับวาย เลือดออกในปอด ทำให้เสียชีวิตได้ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
*********************************** 5 ตุลาคม 2558
View 17
05/10/2558
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ