กระทรวงสาธารณสุข เผยศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลอุดรธานี ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจครบวงจรตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลประชากร 7 จังหวัดอีสานตอนบน ให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดที่โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งเป็นเขตแรกของประเทศ ช่วยลดอัตราตายผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ต่ำที่สุดในประเทศจากร้อยละ 15 เหลือร้อยละ 8 โดยแต่ละเดือนมีผู้ป่วยรับการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจเฉลี่ย 140 คน และขยายบอลลูนหลอดเลือดหัวใจประมาณ 80 คนต่อเดือน ที่สำคัญได้รับการผ่าตัดได้ทันทีไม่มีคิวรอ
วันนี้ (23 กันยายน 2558)ที่โรงพยาบาลอุดรธานี จ.อุดรธานี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารตรวจเยี่ยมรับฟังผลการพัฒนางานในภาพรวมของเขตสุขภาพที่ 8 ซึ่งดูแลประชากรทั้งหมด 5.4 ล้านคนของอีสานตอนบน 7 จังหวัด คือ อุดรธานี สกลนคร นครพนม บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู และเลย
ผลการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาโรคหัวใจและหลอดเลือดของเขตสุขภาพที่ 8 มีโรงพยาบาลอุดรธานีเป็นแม่ข่ายและเป็นศูนย์โรคหัวใจระดับ 1 ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแบบครบวงจร โดยทีมแพทย์ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งโรคหัวใจเด็ก อายุรกรรมโรคหัวใจ และศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จากหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีอัตราตายเสียชีวิตสูงมากซึ่งแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 600 คน ได้เปิดให้การรักษาตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดอัตราตายเสียชีวิต และให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตใกล้เคียงคนปกติให้มากที่สุด โดยวิธีการรักษาโรคนี้มี 3 วิธี ได้แก่ 1.การให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อเปิดหลอดเลือดที่ตีบตัน ให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงหัวใจตามเดิม โดยให้ยาเร็วที่สุดภายใน 30 นาทีที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล ผู้ป่วยเข้ารับบริการรักษาได้ทันทีในทุกโรงพยาบาล 90 อำเภอของ 7 จังหวัด นับเป็นเขตสุขภาพแรกที่ให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดได้ครบทุกอำเภอโดยมีโรงพยาบาลอุดรธานีเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในการรักษา
2.การขยายบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ที่มีข้อห้ามของยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยช็อก หรือผู้ป่วยที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดแล้วไม่ได้ผล จะมีระบบการส่งต่อมาที่ศูนย์หัวใจฯเพื่อฉีดสีหลอดเลือดหัวใจและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไปโดยเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งเดียวในเขตอีสานตอนบนที่ทำขยายบอลลูนหลอดเลือดหัวใจได้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่สิงหาคม 2555 แต่ละเดือนจะมีผู้ป่วยมารับการตรวจฉีดสีหลอดเลือดหัวใจเฉลี่ย 140 คน และต้องได้รับการขยายบอลลูนหลอดเลือดหัวใจประมาณ 80 คนต่อเดือน 3.การผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ จะทำในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหลายเส้นหรือตีบส่วนต้นมาก
นอกจากนี้ โรงพยาบาลอุดรธานี ยังให้บริการผ่าตัดโรคหัวใจชนิดอื่นๆ เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ผ่าตัดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ผ่าตัดหลอดเลือดแดงใหญ่และผ่าตัดเส้นเลือดแดงขาตีบตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเดิมต้องส่งไปรักษาที่ศูนย์หัวใจสิริกิตติ์และมีระยะเวลารอคอยผ่าตัด 6 เดือน – 1 ปี ปัจจุบันผ่าตัดได้ทันทีไม่มีคิวรอ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษารวดเร็ว อัตราตายของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันลดลงจากร้อยละ 15 เหลือร้อยละ 8 และยังมีระบบส่งต่อข้อมูลไปยังโรงพยาบาล/รพ.สต. ใกล้บ้าน เพื่อดูแลต่อเนื่อง ผ่านศูนย์ดูแลต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วย/ครอบครัวสามารถดูแลตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจให้ประชาชนในเขตอีสานตอนบน และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ต่ำที่สุดในประเทศ
************************ 23 กันยายน 2558
View 32
24/09/2558
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ